ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่า วันนี้ ( 26 มิ.ย.) นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 26 มิถุนายนทุกปี เป็นวันต่อต้านยาเสพติดโลก ซึ่งปัญหาหลักที่ประเทศไทยและทั่วโลกเผชิญขณะนี้คือยาบ้าหรือสารเมทแอมเฟตามีน มีผู้เสพสารชนิดนี้ทั่วโลกมากกว่า 33 ล้านคน และกำลังสร้างปัญหาใหญ่ให้กับวงการจิตเวชทั่วโลก
เนื่องจากสารชนิดนี้จะเข้าไปทำลายสมอง ก่อให้เกิดทั้งผู้ป่วยโรคจิตเวชรายใหม่และที่น่าวิตกมีผลการศึกษาในหลายประเทศพบว่าผู้ป่วยโรคจิตเภท ( Schizophrenia) เสพยาบ้าร่วมด้วยถึงร้อยละ 11-31 แนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆมากกว่าคนทั่วไป 5 เท่าตัว
ส่วนในผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตอื่น มีโอกาสใช้สารแอมเฟตามีนสูงกว่าคนทั่วไป 3 เท่าตัว ที่ประชุมสมาคมจิตแพทย์ทั่วโลกประจำปี 2560 ได้แสดงความกังวลและเน้นย้ำถึงความสำคัญเนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีตัวยาใดที่ใช้รักษาหรือถอนพิษหรือใช้ทดแทนยาบ้าที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยจิตเภทที่ใช้ยาบ้าร่วมด้วย ส่งผลให้ประสิทธิภาพการรักษาต่ำลง เกิดอาการทางจิตเพิ่มขึ้นเช่นก้าวร้าวรุนแรง ระดับความซึมเศร้าสูงขึ้น มีความเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงขึ้น เป็นเหตุต้องกลับเข้ารักษาในโรงพยาบาลซ้ำและถี่ขึ้น เป็นภาระแก่ผู้ดูแล ค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้น
“ผลการศึกษากรมสุขภาพจิตล่าสุดในปี 2559 พบว่าผู้ป่วยจิตเภทหลังรักษามีอาการกำเริบต้องกลับเข้ารักษาในโรงพยาบาลซ้ำอีกอยู่ที่ร้อยละ 31โดยมีต้นเหตุสำคัญมาจากการใช้สารเสพติด ที่ใช้มากที่สุดได้แก่ยาบ้ารองลงมาคือสุรา มีอัตราการใช้สูงถึงร้อยละ 50 บางแห่ง
เช่นที่โรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ จ.นครพนม มีผู้ป่วยจิตเภทใช้ยาบ้าร่วมด้วยจำนวน 2,561 คน คิดเป็นร้อยละ 79 ของผู้ป่วยจิตเภททั้งหมดที่มี 3,232 คน
สาเหตุที่ผู้ป่วยหันไปเสพยาบ้าได้แก่ เพื่อให้เกิดมึนเมา ลดความไม่สบายใจ ความวิตกกังวล ลดความประหม่าในการเข้าสังคม บางรายใช้ลดความไม่สุขสบายจากฤทธิ์ยาและลดอาการประสาทหลอนของตัวเองเมื่อขาดยา
รวมทั้งเพื่อนชักชวน ผู้ป่วยจะมีอาการหูแว่ว เช่น ได้ยินเสียงคนพูดทั้งๆที่ไม่มีคนพูด ประสาทหลอน ระแวงคิดว่าจะมีคนมาทำร้าย วอกแวก ขาดสมาธิ ซึ่งเป็นอาการทางจิตที่รุนแรงขึ้น เป็นอันตรายทั้งต่อผู้ป่วยเองและสังคมรอบข้าง ทั้งที่ๆโรคนี้สามารถใช้ยารักษาหายหรือควบคุมอาการให้อยู่ในระดับปกติได้ ผู้ป่วยจิตเภททั่วไปที่นอนโรงพยาบาลจะมีค่ารักษาครั้งละประมาณ 20,000 บาท ต่อคน”อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว
อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวต่อไปว่า ได้ให้โรงพยาบาลจิตเวชนครพนมฯทำการศึกษาวิจัยเพื่อแก้ไขป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยจิตเภทที่ผ่านการบำบัดรักษาแล้ว หันไปเสพยาบ้า สร้างความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้โดยเฉพาะ เพื่อพัฒนาวิชาการและบริการสามารถนำไปขยายผลใช้ทั่วประเทศ ทั้งนี้โรคจิตเภทพบได้ร้อยละ 1 ของประชากร คาดว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 650,000 คน ซึ่งกรมสุขภาพจิตได้เร่งกระจายบริการให้ผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาใกล้บ้านให้ได้มากที่สุด ทำให้การเข้าถึงดีขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2560 นี้ ได้รับการรักษา 235,945 คน และอยู่ระหว่างศึกษาข้อมูลจำนวนผู้ป่วยจิตเภทที่เสพยาบ้าร่วมด้วย
ทางด้านนายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ กล่าวว่า โรงพยาบาลฯ รับผิดชอบดูแลประชาชนในจังหวัดนครพนม สกลนคร และบึงกาฬ พบผู้ป่วยจิตเวชที่เกิดจากการเสพยาบ้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2557 พบ 1,196 คน ปี 2559 พบ 1,512 คน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 32 ของผู้ป่วยยาเสพติดทั้งหมด
บางคนใช้แค่ 1-2 ครั้งก็ป่วย ส่วนผู้ป่วยจิตเภทที่ใช้ยาบ้าร่วมด้วยเพิ่มจากร้อยละ 53 ในปี 2558 เป็นร้อยละ 79 ในปี 2559 ผู้ป่วยร้อยละ 90 เป็นชาย และร้อยละ 99 จะเสพโดยการสูบ
ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ โรงพยาบาลฯได้นำวิธีการ “บำบัดโดยใช้สติเป็นฐาน” หรือเรียกว่า เอ็มบีทีซี-อาร์พี (Mindfulness- based Therapy and Counseling for Relapse Prevention :MBTC-RP) มาบำบัดในกลุ่มผู้ป่วยในเพิ่มเติม สร้างความเข้มแข็งจิตใจให้ผู้ป่วยจิตเภทที่ใช้ยาบ้าให้สามารถควบคุมตนเองได้ดีขึ้น ป้องกันการกลับไปเสพยาบ้าซ้ำ
โดยจะเริ่มบำบัดหลังจากผู้ป่วยรักษาด้วยยาไปแล้ว 1-2 สัปดาห์และมีอาการทางจิตทุเลาแล้ว ดำเนินการเป็นเวลา 2 เดือนครึ่ง ตั้งเป้าศึกษาผู้ป่วยกลุ่มตัวอย่างนำร่องขั้นต่ำ 30 คน ขณะนี้ทำไปแล้ว 11 คน โดยศึกษาทั้งอยู่ในโรงพยาบาล ซึ่งจะฝึกสติบำบัดสัปดาห์ละ 2 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 8 ครั้ง
ในระหว่างนี้จะมีกิจกรรมให้ผู้ป่วยทำต่อเนื่อง และศึกษาหลังออกจากโรงพยาบาลไปอยู่บ้าน โดยจะโทรศัพท์ติดตามประเมินการฝึกกิจกรรมและประเมินการนำสติบำบัดไปจัดการกับความอยากเสพยาบ้าและการแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันเช่นอารมณ์หงุดหงิดเป็นต้นทุกสัปดาห์ ติดต่อกัน 4 สัปดาห์ ซึ่งจะทำการประเมินผลกลุ่มแรกนี้ในเดือนสิงหาคม 2560
ในเบื้องต้นพบว่ามีแนวโน้มที่ดี ผู้ป่วยควบคุมตัวเองดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งการทำสติบำบัดในที่นี้ไม่ใช่การฝึกทำสมาธิทั่วไป แต่เป็นการบำบัดโดยผู้ที่ได้รับการอบรมและผ่านการรับรองเป็นผู้บำบัดด้วยสติบำบัดจากกรมสุขภาพจิต เป็นการ“ฝึกให้ผู้ป่วยรู้เท่าทันความคิดตัวเอง”มีทักษะการหยุดความคิดตัวเอง โดยเฉพาะความคิดเรื่องการใช้ยาเสพติด มีสติอยู่กับกิจกรรมที่ทำในปัจจุบัน ไม่วอกแวกไปกับความคิดอื่นที่จะนำพาไปสู่พฤติกรรมการใช้สารเสพติดแบบเดิมๆ
ทั้งนี้จะมีการใช้รูปแบบสติบำบัดที่ได้จากกลุ่มผู้ป่วย 30 คนแรก ไปขยายผลศึกษาเปรียบเทียบกับกลุ่มผู้ป่วยจิตเภทที่ใช้วิธีการบำบัดด้วยวิธีอื่น เช่น วิธีการเสริมแรงจูงใจ ใช้ขนาดกลุ่มใหญ่ขึ้นตามมาตรฐานการวิจัยในระดับสากลอย่างเต็มรูปแบบในปี 2561 เพื่อวัดประสิทธิผลการกลับไปใช้ยาบ้า ใช้เวลาศึกษา 2 เดือนครึ่ง
โดยจะใช้วิธีการตรวจปริมาณยาบ้าในเส้นผมทางห้องปฏิบัติการ เพื่อยืนยันประวัติการใช้ยาบ้า เปรียบเทียบก่อน-หลังการเข้าโปรแกรมบำบัดและเปรียบเทียบระหว่างกลุ่ม
เนื่องจากการตรวจหายาบ้าในปัสสาวะมีข้อจำกัด จะตรวจพบได้ในระยะสั้นๆประมาณ 3-5 วันหลังเสพครั้งสุดท้าย แต่ข้อดีของของการตรวจในเส้นผม จะสามารถตรวจพบหลังเสพครั้งสุดท้ายเป็นระยะเวลานับสัปดาห์หรือเป็นเดือนขึ้นอยู่กับความยาวของเส้นผม
ซึ่งตามปกติเส้นผมจะยาววันละ 0.2 มิลลิเมตร การตรวจปริมาณยาบ้าในเส้นผมครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมฯกับภาควิชานิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งในปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการเพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทยที่สามารถตรวจวิธีนี้ได้ และจะนำผลการวิจัยนี้ไปขยายผล ผลักดันเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพคนไทยต่อไป นายแพทย์กิตต์กวี กล่าว