กระดูกขากรรไกรตาย จากการใช้ยารักษาโรคกระดูกพรุนสามารถเกิดขึ้นได้ เพราะยาเคมีทุกตัว มีผลข้างเคียงต่อร่างกาย หากมีการใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ดังนั้น การรู้เท่าทันผลข้างเคียงของยาที่เราใช้อยู่เป็นประจํา จะช่วยให้เราระมัดระวัง และป้องกันโรคแทรกซ้อนจากการใช้ยานั้นๆ ได้ เพื่อไม่ให้เป็นการหนีเสือปะจระเข้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในผู้สูงอายุที่มักมีโรคประจําตัวหลายอย่าง และมักทานยาหลายชนิดเป็นประจําติดต่อกัน หากจําเป็นต้องเข้ารับการบริการทางทันตกรรม ทั้งการถอนฟัน อุดฟัน รักษารากฟัน จําเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบถึงโรค และยาที่ใช้อยู่เป็นประจํา เพื่อทันตแพทย์จะได้ปรับเปลี่ยนแผนการรักษาได้อย่างปลอดภัยที่สุด
สําหรับผู้ป่วยที่มีการใช้ยาบางชนิดอยู่เป็นประจํา อาจมีผลต่อการทําฟันได้ ที่ทันตแพทย์จะกังวลมากที่สุด เห็นจะเป็นยาในกลุ่ม Bisphosphonates ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาโรคกระดูกพรุน ที่มีใช้ทั้งแบบกินและฉีด โดยเป็นยากิน ผู้ป่วยก็จะได้รับประมาณสัปดาห์ละ 1 เม็ด หรือเดือนละ 1 เม็ด ส่วนยาฉีด ก็จะมีทั้งรูปแบบของ การฉีด 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี
คนที่ได้รับยา Bisphosphonates เข้าไป ก็จะเหมือนไปยับยั้งเซลล์ที่ทําหน้าที่ในการทําลายกระดูก ทําให้การทําลายกระดูกลดลง และเซลล์ที่เพิ่มกระดูกก็จะเพิ่มขึ้น ซึ่งช่วยป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุน ป้องกันการเกิดกระดูกหักได้ แต่จะมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะกระดูกขากรรไกรตายภายหลัง จากการถอนฟันมากขึ้น ในกรณีที่ได้รับการฝังรากฟันเทียม ก็มีโอกาสที่จะทําให้รากฟันเทียมไม่ยึดติดกับกระดูกขากรรไกร และทําให้กระดูกตายได้เช่นเดียวกัน
ภาวะกระดูกขากรรไกรตาย
คือ มีกระดูกโผล่มาที่ช่องปาก เห็นเป็นกระดูกขาวๆ เหลือง ๆ ชัดเจน จากปกติที่กระดูกขากรรไกรเราจะต้องถูกคลุมด้วยเยื่อเมือกที่เห็นเป็นสีชมพู นอกจากนี้อาจจะมีการติดเชื้อของกระดูกที่ตาย ทําให้มีอาการปวด เกิดแผลในช่องปาก มีกระดูกโผล่ขึ้นมา ซึ่งเวลาทานอาหาร ก็จะเจ็บ ลําบาก มีการติดเชื้อลุกลามไปยังบริเวณข้างเคียง หรือว่ามีหนองไหล มีตุ่มหนองออกมาที่บริเวณกระดูกตาย แล้วส่งผลทําให้ฟันแถวนั้น เกิดการโยก เนื่องจากมีการทําลายของกระดูก ซึ่งจริงๆ แล้ว ภาวะกระดูกขากรรไกรตาย เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเจอในผู้ป่วยที่ได้รับการฉายรังสีบริเวณคอ, ใบหน้า หรือช่องปาก ซึ่งเหล่านี้ก็จะส่งผลให้เกิดภาวะกระดูกตาย ภายหลังจากการถอนฟันได้เช่นกัน
แต่ยา Bisphosphonates นี้ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะทําให้เกิดกระดูกขากรรไกรตายได้ โดยอาจมีปัจจัยเสริมอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ถ้าผู้ป่วยได้รับยา Bisphosphonates เป็นรูปแบบของยาฉีด ก็จะมีความเสี่ยงได้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยา Bisphosphonates ในรูปแบบยาฉีด นอกจากจะใช้ในผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนแล้ว ยังใช้ในผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มะเร็งลุกลามเข้ากระดูกอีกด้วย
ส่วนใหญ่แล้ว หมอกระดูกมักจะส่งผู้ป่วยที่จะได้รับยารักษาโรคกระดูกพรุนกลุ่ม Bisphosphonates ให้หมอฟัน เพื่อรักษาโรคทางช่องปากให้ดีก่อน ถ้ามีฟันผุ, มีฟันต้องถอน, มีโรคเหงือก ก็ให้รักษาให้เสร็จเรียบร้อยก่อนการเริ่มใช้ยากลุ่มนี้ เพื่อที่จะได้ป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อน โดยเฉพาะภาวะกระดูกขากรรไกรตายในระหว่างที่ใช้ยา
………………………………………………..
และหลังจากที่มีการเริ่มใช้ยาไปแล้ว หมอกระดูกเองก็จะมีการแนะนําให้ผู้ป่วยไปพบหมอฟันทุกๆ 6 เดือนเป็นประจํา ในส่วนของยาในกลุ่มอื่นๆ เช่น ยาความดัน ยาเบาหวาน ขาโรคหัวใจ ฯลฯ ที่ส่วนใหญ่แล้วผู้สูงอายุมักทานติดต่อกันเป็นประจํานั้น หากต้องเข้ารับการทําฟัน แนะนําว่าให้แจ้งโรคประจําตัวที่ตัวเองเป็น และยาที่ได้รับอยู่ให้ทันตแพทย์ทราบก่อน เพื่อให้ทันตแพทย์พิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้
เนื้อหาโดย Dodeden.com