กระดูกพรุนในผู้หญิง กําลังเป็นปัญหาที่สําคัญอย่างหนึ่ง ที่พบได้บ่อยในวัยสูงอายุ เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย เนื่องจากคนส่วนใหญ่มีอายุยืนยาวขึ้น จากการสํารวจขององค์การอนามัยโลกพบว่า หนุ่มสาวอเมริกันผิวขาว มีมวลกระดูกต่ำร้อยละ 15 และโรคกระดูกพรุนร้อยละ 0.6 และเมื่ออายุสูงขึ้นในช่วง 60-70 ปี ก็จะพบว่า มีโรคกระดูกพรุนถึง 1 ใน 3 และโรคกระดูกพรุนจะเพิ่มเป็นร้อยละ 70 เมื่ออายุ 80 ปีขึ้นไป 

 

โรคกระดูกพรุน
ภาพจาก betternutrition.com

 

โรคกระดูกพรุนมากกว่าร้อยละ 50 พบในผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 70 ปี ซึ่งเพศหญิงมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะกระดูกพรุนมากกว่าเพศชายถึง 4 เท่า เพราะผู้หญิงวัยหมดประจําเดือนหรือวัยทอง มีความเสื่อมของร่างกายเร็วกว่าเพศชาย เนื่องจากประจําเดือนหมดเร็ว ทําให้ระดับฮอร์โมน เอสโตรเจนลดลง ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคกระดูกพรุน และยังมีปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ มีรูปร่างผอมบาง ออกกําลังกายน้อย หรือขาดการออกกําลังกาย เป็นโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ และได้รับการผ่าตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง เป็นต้น

 

กระดูกพรุนในผู้หญิง มฤตยูเงียบสุดอันตราย ใกล้ตัวคุณ

องค์การอนามัยโลก ได้ให้คําจํากัดความของ ภาวะกระดูกพรุน ตามความหนาแน่นของมวลกระดูก (bone mass density, BMD) ซึ่งปรับให้เป็นคะแนนมาตรฐาน (T-score) และเปรียบเทียบค่าอ้างอิง ซึ่งเป็นค่าความหนาแน่นของมวลกระดูกโดยเฉลี่ยของผู้ใหญ่ตอนต้น หากค่าความหนาแน่นของมวลกระดูกแตกต่างจากค่าเฉลี่ย 2.5 SD (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน) ขึ้นไป จะวินิจฉัยว่าเป็น ภาวะกระดูกพรุน หากค่าความหนาแน่นของมวลกระดูก น้อยกว่าค่าเฉลี่ย 1 – 2.5 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานจะเป็นภาวะกระดูกบาง (osteopenia)

 

กระดูกพรุนในผู้หญิง
ภาพจาก medassociatesofri.com

 

กระดูกโปร่งบาง หรือกระดูกพรุน (Osteoporosis)
หมายถึงภาวะที่ปริมาณกระดูกในร่างกายต่ำกว่าปกติ เมื่อเทียบกับประชากรที่มีรูปร่าง และน้ำหนักในช่วงเดียวกัน เกิดจากการที่กระดูกสูญเสียเนื้อกระดูก ทําให้กระดูกมีความเปราะบาง เกิดการแตกหักได้ง่าย โดยเฉพาะกระดูกส่วนข้อสะโพก กระดูกสันหลัง และกระดูกข้อมือ และที่เรียกว่าภาวะกระดูกพรุนก็เพราะว่า เนื้อในของกระดูกจะมีลักษณะ เป็นรูพรุนเหมือนฟองน้ำนั่นเอง

ผลกระทบของโรคกระดูกพรุน จะทําให้ผู้หญิงสูงอายุประสบกับอาการปวดบริเวณกระดูกอย่างเรื้อรัง และทําให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา คือกระดูกหักง่ายเมื่อถูกแรงกระแทกเพียงเล็กน้อย และในรายที่เป็นโรคกระดูกพรุนร่วมกับกระดูกหัก เช่น กระดูกสันหลังหักยุบตัว หรือคดงอ จะทําให้ผู้หญิงสูงอายุเกิดความทุกข์ทรมานจากอาการปวดเพิ่มขึ้น มีการเคลื่อนไหวลําบาก ต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่น ต้องแยกตนเองออกจากสังคม และเกิดภาวะซึมเศร้าได้

 

กระดูกพรุนในผู้หญิง

 

การที่ต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่น เป็นการเพิ่มภาระให้แก่สมาชิกในครอบครัว ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับการดูแล และการรักษาพยาบาลด้วย เนื่องจากภาวะนี้ เป็นการเจ็บป่วยเรื้อรัง จึงต้องใช้เวลานานในการรักษา และฟื้นฟูสภาพร่างกาย ซึ่งอาจจะไม่สามารถกลับคืนสู่สภาพปกติได้ดังเดิม นอกจากนี้ การนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน อาจทําให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ถ้าไม่ได้รับการดูแลอย่างเพียงพอ เช่น อาจเกิดแผลกดทับ หรือเกิดทุพพลภาพจากภาวะข้อติด และมีการติดเชื้อเข้าสู่ร่างกาย เป็นต้น ซึ่งภาวะแทรกซ้อนดังกล่าว อาจทําให้เสียชีวิตได้

จะเห็นว่าการเป็นโรคกระดูกพรุน ส่งผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพของผู้หญิงทั้งทางร่างกาย จิตใจ และภาวะทางสังคม เพราะฉะนั้น เราจึงต้องเริ่มจากพฤติกรรมที่ช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนและส่งเสริมกระบวนการสร้างกระดูกก่อน ได้แก่ การออกกําลังกายแบบลงน้ำหนักที่กระดูกเป็นประจํา สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30-60 นาที เพราะการออกกําลังกายที่ถูกต้อง เป็นกลวิธีหนึ่งที่ช่วยให้กระดูกมีความแข็งแรง การที่ร่างกายไม่มีการเคลื่อนไหว หรือขาดการออกกําลังกายเป็นเวลานาน เช่น การเจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องนอนนานๆ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทําให้เกิดการสูญเสียกระดูก เป็นผลให้กระดูกบาง ผุ และในที่สุด ก็มีการทรุดตัวลง และหักได้ง่าย

 

กระดูกพรุนในผู้หญิง
ภาพจาก algaecal.com

 

เมื่อมีการหักของกระดูกเกิดขึ้น กระดูกจะติดกันได้ยากมาก และอาจต้องใช้ระยะเวลานาน 2-3 เท่าของภาวะปกติ การออกกําลังกายแม้จะมีประโยชน์ต่อด้าน ร่างกายและจิตใจก็ตาม ยังคงพบว่าคนไทยมีการออกกําลังกายที่น้อยอยู่ เคยมีการสำรวจพบว่า คนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปจำนวนมาก มีความหนาแน่นของมวลกระดูกผิดปกติ ไม่มีการออกกําลังกายจนเหนื่อยถึงระดับหัวใจเต้นเร็ว และไม่มีการเคลื่อนไหว หรือเปลี่ยนอิริยาบถในแต่ละวัน

การป้องกัน และรักษาโรคกระดูกพรุน

  • ทานอาหารที่มีแคลเซียมให้เพียงพอ
    ซึ่งโดยปกติ ร่างกายควรได้รับปริมาณแคลเซียม 800-1,000 มิลลิกรัม/วัน สําหรับผู้สูงอายุ ควรได้รับแคลเซียม 1,500 มิลลิกรัม/วัน อาหารที่มีแคลเซียมสูงได้แก่ นมพร่องมันเนย โยเกิร์ต ปลาเล็กปลาน้อย ปลาไส้ตัน กะปิ งาดํา ถั่วเหลือง เต้าหู และผักใบเขียว เช่น ผักโขม ตําลึง ใบยอ ยอดสะเดา ผักกระเฉด ใบขี้เหล็ก เป็นต้น ในกรณีที่ทานสารอาหารที่มีแคลเซียมในปริมาณที่ไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ควรทานยาเม็ดแคลเซียมเสริม อย่างไรก็ตาม การทานยาเม็ดแคลเซียม ควรได้ปรึกษาแพทย์ เพราะการทานในปริมาณที่มากเกินไป ในกรณีที่ตับ หรือไต มีความบกพร่องในการทําหน้าที่ อาจทําให้เป็นอันตรายต่อร่างกายได้

 

กระดูกพรุนในผู้หญิง

 

  • หลีกเลี่ยงการทานอาหารประเภทโปรตีนที่ได้จากเนื้อสัตว์ในปริมาณมาก
    และทานเป็นประจํา เพราะอาหารประเภทโปรตีนที่ได้จากเนื้อสัตว์ ยกเว้นเนื้อปลา ทําให้ปริมาณฟอสฟอรัสและกํามะถันในร่างกายเพิ่มขึ้น ซึ่งทําให้ร่างกายมีภาวะกรด เพื่อรักษาสมดุลภาวะกรดด่างในร่างกาย กลไกของร่างกายจะทําหน้าที่รักษาสมดุลของร่างกาย โดยจะกระตุ้นให้ร่างกายสลายแคลเซียมออกจากกระดูก เพื่อขับแคลเซียมออกทางไต สําหรับปริมาณอาหารประเภทโปรตีนที่เหมาะสมนั้น ไม่ควรทานเกิน 100 กรัมต่อวัน

 

กระดูกพรุนในผู้หญิง

 

  • หลีกเลี่ยงการบริโภคพืชผักชนิดเดียวกันติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
    และในปริมาณครั้งละมากๆ แต่ควรทานผักหลากหลายชนิด เพราะผักบางชนิด มีปริมาณกากใยสูง ซึ่งจะมีผลขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมในลําไส้ เช่น บลอคโคลี่ ผักคะน้า เป็นต้น

 

กระดูกพรุนในผู้หญิง

 

  • หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารรสเค็มจัด
    เนื่องจากอาหารรสเค็ม มีส่วนประกอบของโซเดียม ซึ่งเมื่อร่างกายขับโซเดียมออกมาทางปัสสาวะ แคลเซียมก็จะถูกขับออกมาด้วย

 

กระดูกพรุนในผู้หญิง

 

  • ควรออกกําลังกายอย่างสม่ำเสมอ
    หากเป็นไปได้ ควรออกกําลังกายทุกวัน หรือใน 1 สัปดาห์ ควรออกกําลังกายอย่างน้อย 3 ครั้งๆ ละ 30 นาที สําหรับการออกกําลังกายนั้น ควรได้เน้นการออกกําลังกาย หรือการเล่นกีฬาประเภทที่มีการลงน้ำหนักของแขนหรือขา เช่น เดินเร็ว เดินในน้ำ เต้นแอโรบิค รำมวยจีน และการปั่นจักรยานอยู่กับที่ เป็นต้น ซึ่งควรต้องพิจารณาเลือกชนิดการออกกําลังกายให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล และไม่ควรออกกําลังกายอย่างหักโหม เพราะอาจเป็นอันตรายต่อระบบหัวใจได้ (ควรออกกําลังกายในช่วงเช้า หรือช่วงเย็น ในบริเวณที่มีแสงแดดอ่อนๆ)

……………………………………………………….

และที่สำคัญ เราขอแนะนำให้คุณหลีกเลี่ยงการดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ทุกชนิด และเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลม เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้ มีสารประกอบที่ทําให้ร่างกายขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะมากขึ้น และควรหลีกเลี่ยง หรือลดปริมาณการดื่มกาแฟ หรือเครื่องดื่มประเภทที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เนื่องจากคาเฟอีน เป็นสารที่กระตุ้นการสลายแคลเซียมออกจากกระดูก รวมทั้งทําให้ไตขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะมากขึ้น

 

 

เนื้อหาโดย Dodeden.com

เรื่องน่าสนใจ