กระแสฮิต!!! ฉีดสเต็มเซลล์ กระชากวัยได้จริงหรือเสี่ยงมะเร็ง?
สเต็มเซลล์ เป็นชื่อสร้างปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ให้ความหวังว่าจะสามารถ รักษาโรคได้ทุกโรค มันเป็นชื่อของสิ่งมหัศจรรย์ในโลกยุคใหม่ ไม่แปลกที่ไม่นานต่อมา สเต็มเซลล์จะกลายเป็นเชื่อของสิ่งวิเศษที่สามารถเสริมความงาม กระชากวัย จนมีข่าวว่า ดาราหลายคนบินรัดฟ้าไปฉีดสเต็มเซลล์ที่ดึงเอาความเยาว์วัยกลับมากันหลายคน
แม้แต่นักธุรกิจ นักการเมือง สเต็มเซลล์ก็เป็นชื่อของความปรารถนาที่จะทำให้ชีวิตยืนยาว ไม่ต่างจากการพูดถึงตำนานน้ำพุแห่งความเยาว์วัย หรือจอกศักดิ์สิทธิ์ที่ใครได้ดื่มน้ำจากจอกนั้นจะมีชีวิตเป็นอมตะ
แต่จะเกิดอะไรขึ้นหากสิ่งที่ได้แทนที่จะเป็นความหนุ่มสาวกลับกลายเป็น “มะเร็ง”
การ ไขว่คว้าการมีชีวิตอันยืนยาว หรือการยืดความหนุ่มสาวของมนุษย์นั้นเป็นไปได้จริงๆ หรือ? สเต็มเซลล์มหัศจรรย์วิทยาศาสตร์ของโลกยุคใหม่สามารถตอบโจทย์ความฝัน ของมนุษยชาติได้จริงๆ หรือเป็นเพียงโฆษณาชวนเชื่อที่เอาภาพลวงความยิ่งใหญ่ของสเต็มเซลล์มาเป็น ชื่อหลอกขายกันแน่
สเต็มเซลล์ในปัจจุบัน
สเต็มเซลล์หรือ เซลล์ต้นกำเนิดเป็นชื่อที่สั่นสะท้านวงการแพทย์ ด้วยความหวังที่ว่ามนุษย์จะ นำไปรักษาโรคที่รักษาไม่ได้หลายชนิด เพราะโรคภัยไข้เจ็บของมนุษย์ที่รักษาไม่ได้นั้นส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เซลล์ของเนื้อเยื่อมนุษย์บางชนิดเมื่อตายไปแล้วร่างกายไม่สามารถสร้างใหม่ได้ เช่น สมอง หัวใจ ดังนั้นการค้นพบสเต็มเซลล์จึงเป็นเสมือนการค้นพบแหล่งสร้างเซลล์ชนิดที่ต้องการเพื่อนำไปพัฒนาเป็นการรักษาต่อไป
ในช่วง 10 ปีที่ ผ่านมางานวิจัยทางด้านสเต็มเซลล์มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วมาก ทำให้เกิด ความหวังกับนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่จะหาแนวทางรักษาโรคที่ในอดีตคิดกันว่า ไม่มีทางรักษาได้แน่นอน
ผศ.ดร.นพ.นิพัญจน์ อิศรเสนา ณ อยุธยา หัว หน้าศูนย์วิจัยเซลล์ต้นกำเนิด และเซลล์บำบัด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็เห็นถึงความเป็นไปได้ของความฝันที่จะมีการนำ สเต็มเซลล์มาใช้ในทางการแพทย์อย่างกว้างขวางในอนาคต แต่อย่างไรก็ดียังมีสิ่งที่บุคคลทั่วไปเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับ สเต็มเซลล์ปัจจุบันโรคที่ใช้สเต็มเซลล์รักษาได้จริงยังมีจำกัดไม่กี่โรค ถึงนำไปสร้างเซลล์ที่ต้องการได้ในหลอดทดลองก็ไม่ใช่ว่าฉีดเข้าไปในร่างกาย แล้วจะเกิดประโยชน์ ในทางตรงข้ามกัน การนำไปใช้อย่างไม่เหมาะสมก็ทำให้เกิดอันตรายได้ ยังมีรายละเอียดอีกมากที่ ยังต้องศึกษา เพื่อให้เกิดประโยชน์จริงและลดอันตรายต่อผู้ป่วย ที่แน่ๆคือยังก้าวไม่ถึง จุดที่จะสามารถรักษาโรคได้ทุกโรคตามที่หลายคนในสังคมเข้าใจ
ด้วยเพราะสเต็มเซลล์ นั้นจริงๆแล้วมีหลายชนิด แต่ละชนิดมีคุณสมบัติไม่เหมือนกัน นำไปใช้สร้างเซลล์ของเนื้อเยื่อคนละชนิด มีประโยชน์และโทษแตกต่างกันเมื่อนำไปปลูกถ่ายตัวอย่างง่ายๆคือ สเต็มเซลล์ของเลือดก็สร้างเฉพาะเซลล์เม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง สเต็มเซลล์ของสมองก็สร้างเฉพาะเซลล์ประสาท และเซลล์เยื่อหุ้มประสาทเป็นต้น ส่วนสเต็มเซลล์ที่สร้างเซลล์ร่างกายได้ทุกชนิดมีเพียง สเต็มเซลล์ตัวอ่อน (human embryonic stem cells) ซึ่งยังต้องวิจัยพัฒนาอีก 5-10 ปี ก่อนคนไข้ทั่วไปจะมีโอกาสได้ใช้
โดยในปัจจุบัน หัวหน้าศูนย์วิจัยเซลล์ต้นกำเนิด และเซลล์บำบัด เผยว่าการใช้สเต็มเซลล์ในการรักษาโรคอย่างมีมาตรฐานนั้นในประเทศไทยนับเพียง สเต็มเซลล์เลือด(จากไขกระดูก หรือสายสะดือทารก)สำหรับโรคเลือดเท่านั้น ในต่างประเทศบางแห่งการเพาะและปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ ผิวหนัง และกระจกตา เป็นการรักษามาตรฐาน แต่เนื่องจากมีต้นทุนที่สูงมาก ทำให้ในทางปฏิบัติมีการใช้ในยุโรปบางประเทศเท่านั้น โรงเรียนแพทย์ของไทยมีการพัฒนาเทคนิคดังกล่าวแต่ยังเป็นโครงการวิจัยไม่ใช่การรักษามาตรฐาน
“การนำ สเต็มเซลล์ของอวัยวะใดๆนำไปรักษาอวัยวะนั้นๆ มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์คือ ไม่ใช่ว่าเราแค่เอาเซลล์ไปปลูกเฉยๆ เราต้องการเซลล์ที่ไปปลูกแล้วมันสร้างเซลล์ใหม่ได้เรื่อยๆ เราไม่ได้ต้องการให้สร้างเซลล์เลือดของวันนั้น เราต้องการให้หลังจากปลูกถ่ายไปแล้วเซลล์นั้นสามารถสร้างเซลล์เม็ดเลือดให้ เราใช้ไปได้ตลอดชั่วชีวิตเรา ถ้าไม่ใช่สเต็มเซลล์ของอวัยวะเดียวกัน ก็จะสร้างเซลล์ผิดชนิดได้ เช่นกลายเป็นกระดูกในหัวใจหรือสมองเป็นต้น”
ความก้าวหน้าในการวิจัยสเต็มเซลล์เป็นไปอย่างรวดเร็ว ล่าสุดกับงานวิจัยที่คว้ารางวัลโนเบลของศ.ชินยะ ยามานากะ ค้นพบวิธีการการนำเซลล์ชนิดใดก็ได้ในร่างกายมนุษย์มาทำให้กลายเป็นเซลล์ไอพีเอส (induced pluripotent stem cell) ซึ่งมีคุณสมบัติเหมือนสเต็มเซลล์ตัวอ่อน ที่สามารถเปลี่ยนเป็นเซลล์ใดก็ได้ในร่างกาย เนื่องจากเป็นเซลล์ของตัวผู้ป่วยเองจึงมีประโยชน์อย่างมากในการพัฒนาการรักษาใหม่
ตัวอย่างเช่น หากเป็นโรคทางพันธุกรรมเลือด ใน ทางทฤษฎีสามารถนำเซลล์ผิวหนังของคนไข้ออกมาทำเป็นเซลล์ไอพีเอสแล้วแก้ความ ผิดปกติทางพันธุกรรมทำกลับเป็นสเต็มเซลล์เลือดที่ไม่มีอาการป่วย เพื่อนำกลับไปปลูกถ่ายเพื่อรักษาผู้ป่วยได้
นอก จากนี้เซลล์ไอพีเอสยังมีประโยชน์ในด้านของการทดลอง โดยเอานำเซลล์ไอพีเอสไปสร้างเป็นเซลล์จำลองที่เกิดโรคเพื่อเรียนรู้กลไกการ เกิดโรคและการใช้ยารักษา ทำให้สามารถรักษาผู้ป่วยในโรคนั้นๆ ได้โดยใช้ยาที่เป็นผลมาจากการทดลองกับเซลล์ไอพีเอส
ทั้งนี้ การใช้สเต็มเซลล์ในทางที่ผิดนั้น ผศ.ดร.นพ.นิพัญจน์ แสดงความเป็นห่วงว่ามีอยู่หลายกรณี
“การ ใช้สเต็มเซลล์กับผิวหนังนั้น เราพูดถึงกรณีถูกไฟไหม้ ไม่ได้ช่วยให้ผิวสวยงามอย่างที่เข้าใจกันในประเทศไทย อันนั้นยังไม่มีหลักฐานหรือเหตุผลสนับสนุนเพียงพอ”
ภัยร้ายของสเต็มเซลล์
จากกระแสข่าวที่พบว่า มีดาราพากันไปฉีดสเต็มเซลล์เพื่อหวังผลด้านความสวยความงาม ตั้งแต่บุ๋ม ปนัดดาที่ฉีดสเต็มเซลล์จากแกะในราคากว่า 6 แสนบาท เคม ภูภูมิ และอั้ม พัชราภา จนถึงเจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ ที่พูดถึงกันมากที่สุดก็หนีไม่พ้น เบิร์ด ธงไชยที่ มีข่าวว่าฉีดสเต็มเซลล์ตั้งแต่รุ่นรกแกะรุ่นแรก โดยก่อนคอนเสิร์ตใหญ่ก็มีข่าวว่าได้บินไปฉีดสเต็มเซลล์ถึงเยอรมนีด้วยเงิน สูงถึง 1 ล้านบาท
รศ.ดร.คล้ายอัปสร พงศ์รพีพร อาจารย์ พิเศษมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และกรรมการห้องปฏิบัติการฮาร์ท จีเนติกส์ เผยถึงผลการตรวจที่พบความผิดปกติอย่างน่าสงสัยของผู้ที่มาใช้บริการตรวจดี เอ็นเอกับเธอว่า “ทางสถาบันเราจะ เชี่ยวชาญด้านมะเร็ง โดยจะสามารถตรวจพบมะเร็งในระยะก่อนเริ่มแรกจากดีเอ็นเอได้ ซึ่งเราทำมาเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้วก็พบความผิดปกติในดีเอ็นเอของลูกค้า กลุ่มหนึ่งซึ่งมีการกลายพันธุ์”
โดยข้อสังเกตของ เธอพบว่า การกลายพันธุ์ของดีเอ็นเอนั้นเป็นการกลายเป็นพันธุ์จากคนไปเป็นของสัตว์ และพบว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะกลายเป็นมะเร็ง
“พอ มาสอบถามดูก็ได้รับคำตอบว่า ได้ไปใช้บริการฉีดสเต็มเซลล์มา ซึ่งทั้งหมดที่พูดมามีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้ เพราะขั้นตอนในการตรวจสอบดีเอ็นเอต้องส่งข้อมูลไปยังต่างประเทศด้วย”
กลุ่มคนที่เธอ ตรวจพบอาการดังกล่าวนั้นเป็นนักธุรกิจ หรือนักการเมืองที่ใส่ใจในเรื่องของสุขภาพการฉีดสเต็มเซลล์ที่ใช้ค่าใช้จ่าย สูงก็เพื่อให้ตัวเองหายจากโรคที่เป็นอยู่ แต่กลับทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคร้ายมากขึ้น
ปัจจัย ของการฉีดสเต็มเซลล์แล้วทำให้เกิดมะเร็งนั้นก็สอดคล้องกับ ผศ.ดร.นพ.นิ พัญจน์ ที่บอกว่า การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ที่ผ่านการเพาะเลี้ยงจะยิ่งมีปัจจัยที่ทำให้มีผลข้าง เคียงเป็นโรคมะเร็ง
“เซลล์ ยิ่งผ่านการเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการนานยิ่งมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดความ ผิดปกติในโครโมโซม การปนเปื้อน จำต้องมีการตรวจสอบ คัดเลือกเซลล์อย่างรอบคอบเพื่อความปลอดภัย และใช้ในโรคที่มีหลักฐานสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น”
แต่การใช้ สเต็มเซลล์ในความเข้าใจที่ผิดนั้นมีอยู่มากมาย อย่างการฉีดสเต็มเซลล์ของสัตว์เพื่อใช้ในด้านความงามนั้น หัวหน้าศูนย์วิจัยเซลล์ต้นกำเนิด และเซลล์บำบัด เผยว่า การฉีดเซลล์ของสัตว์เข้ามาในร่างกายนั้นถือว่ามีอันตรายมากกว่ามีประโยชน์
“ย้อน กลับมาสเต็มเซลล์คืออะไร…คือเซลล์ที่สร้างเซลล์ใหม่ให้เรา ถ้าเราฉีดเซลล์ที่ไม่ใช่เซลล์ผิวหนังของเรา มันก็ไม่ได้สร้างเซลล์ผิวหนังให้เรา ง่ายๆ สั้นๆ มันก็สร้างเซลล์อื่น ถ้าเอาเซลล์สัตว์ฉีดไปมันก็สร้างเซลล์อื่น ยิ่งถ้ามันยังมีชีวิตอยู่ เกิดอะไรขึ้นอีก ภูมิคุ้นกันเราก็ทำงาน ถ้าภูมิคุ้มกันชนะมันก็ไม่มีผลเหมือนฉีดน้ำเปล่ามีแสบร้อยแปลบๆ แต่ถ้าแย่เป็นยังไง แพ้สมองอักเสบถึงตายก็มี”
ในส่วน ที่ทำให้รู้สึกดีขึ้นนั้น อาจมีการฉีดสารด้านความงานอื่นๆที่เป็นอันตรายอย่าง สารหนู สารต้องห้ามทางการแพทย์ที่ในระยะยาวอาจทำให้เป็นมะเร็งได้ ส่วนสเต็มเซลล์ที่จากตัวเองนั้น หากใช้ผิดวิธีก็มีอันตรายเช่นกัน
“มันมีคำโฆษณาชวน เชื่อมากมาย เซลล์ของตัวเองไม่เป็นไรปลอดภัย อันนี้ไม่จริงเสมอไป เพราะเซลล์เจ้าของเองก็กลายเป็นพิษได้ เซลล์เลือดฉีดไปในไตกลายเป็นเนื้องอกในไตได้ ฉะนั้นเซลล์ของตัวเองไม่ได้ปลอดภัยอย่างที่คิด เซลล์ตัวเองก็อันตรายได้ ข้อเสียคือภูมิคุ้นกันเราไม่ป้องกัน คืออะไรมันเป็นเนื้องอกง่ายมาก เหมือนเพาะแล้วเพิ่มจำนวนแล้วมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่ในยีนของเซลล์ พอปลูกเข้าไปในร่างกายเรา ระบบภูมิคุ้มกันบอกว่าเป็นเซลล์เรานี่ แต่จริงๆมันเป็นตัวเริ่มต้นของเนื้องอก”
เนื่องจากแม้แพทย สภาจะห้ามการนำสเต็มเซลล์มาใช้ในผู้ป่วยนอกจากจะเป็นโรคระบบเลือดหรือเป็น โครงการวิจัยที่ได้ผ่านการตรวจสอบแล้ว แต่ก็ยังข่าวมีคลินิคเปิดรักษาด้วยสเต็มเซลล์ในโรคที่ไม่มีพื้นฐานทางวิทยา ศาสตร์อยู่เสมอๆ
ในทางจริยธรรมแล้ว ผศ.ดร.นพ.นิพัญจน์ เอ่ยว่า “ใน ทางการแพทย์เราคำนึงถึงความปลอดภัยของคนไข้เป็นสำคัญที่สุด การรักษาต้องมีพื้นฐานจากหลักฐานที่เชื่อถือได้และต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้อง กับคนไข้ สำหรับผู้ป่วยที่ไม่เข้าใจว่าสเต็มเซลล์คืออะไรและเป็นโรคเรื้อรังรุนแรง พอหมอบอกว่า จ่ายมา 10 ล้านแล้วจะฉีดสเต็มเซลล์ให้ มีความเป็นไปได้ที่จะรักษาได้ แต่หมอไม่รับรองและห้ามฟ้องหมอทีหลัง คนไข้ที่ไม่มีอะไรจะเสียก็อาจตกลง แต่มันทั้งอันตรายต่อคนไข้ และผิดจริยธรรม”
ทั้งนี้ หากมีการใช้สเต็มเซลล์รักษาคน นอกจากโรคเลือดซึ่งเป็นมาตรฐานแล้วในประเทศไทย ก็ยังถือว่าเป็นการทำเพื่อการพัฒนาการแพทย์จึงห้ามคิดค่าใช้จ่ายกับคนไข้
ยังมีการให้เก็บ สเต็มเซลล์ของเด็กแรกเกิดเพื่อให้ใช้รักษาโรคในอนาคต เขาก็ให้ความเห็นว่า ไม่จำเป็น เพราะค่าใช้จ่ายที่สูงมาก โดยคิดค่าเก็บรักษาตามระยะเวลา หากเก็บไว้เพียง 10 ปีก็ไม่คุ้มเพราะอาจยังไม่ได้ใช้รักษาโรค และหากเก็บในตอนโตก็ไม่ต่างกันเพราะปัจจุบันมีวิทยาการของเซลล์ไอพีเอสที่ ย้อนไปสู่เซลล์กำเนิดได้
“ในทาง การแพทย์ นอกจากความปลอดภัยของคนไข้ เราต้องคำนึกถึงค่าใช้จ่าย ประโยชน์ที่มากที่สุดต่อตัวคนไข้ด้วยการรักษาแบบนั้นจึงจะเป็นมาตรฐานที่ สามารถใช้ในทางปฏิบัติจริงได้”
ปัจจุบันนี้ มีการนำชื่อของสเต็มเซลล์ไปใช้ในทางที่ผิดซึ่งอันตรายมาก
“คน ที่ไม่รู้แต่พร้อมจะยอมเสี่ยงเพราะเชื่อว่าสเต็มเซลล์นั้นดี เชื่อว่ารักษาได้ทุกโรค เชื่อว่าบินไปฉีดในประเทศบางประเทศที่ดังๆ ในยุโรป เชื่อว่ามันเป็นไฮ – เทคโนโลยีที่ คนอื่นไม่รู้ มันไม่ใช่ เทคโนโลยีที่พูดนั้นมันไม่ใช่เทคโนโลยีเลย เราสามารถพูดได้ทั่วโลก หรือสมาคมสเต็มเซลล์ทั่วโลกพูดด้วยประโยคเดียวกันว่า ไม่มี ตัวอย่างในต่างประเทศก็มีมาแล้วที่คนไข้ตายและหมอที่ฉีดสเต็มเซลล์ให้ต้อง ติดคุก”
มาถึงตอนนี้ ผศ.ดร.นพ.นิพัญจน์ ก็ขอบอกว่า สเต็มเซลล์ในด้านดีก็มีอยู่จริง เพียงแต่ต้องใช้อย่างถูกต้อง ถูกกระบวนการ
“มาตอนนี้ความ ก้าวหน้าของสเต็มเซลล์ที่เทคโนโลยีมันก้าวไปเร็วมาก มันก็ทำให้ความฝันทางวิทยาศาสตร์หลายอย่างใกล้จะเป็นจริง iPS technology เองในประเทศไทยก็พัฒนาไปพอสมควรแล้ว ผมเองศึกษาด้านประสาท ความฝันในการรักษาโรคพาร์กินสันมันเริ่มเห็นความเป็นไปได้แล้ว”
อย่างไร ก็ตาม ความเป็นไปได้ทางวิทยาศาสตร์ยังรอก้าวต่อไปของการพัฒนา ความหวังในการจะรักษาโรคทุกโรคที่เกิดกับมนุษย์ ในต้นทุนที่คุ้นค่าพร้อมด้วยความปลอดภัย รวมถึงความหนุ่มสาว ที่ยังไม่มาถึงในปัจจุบัน
ขอบคุณที่มา ทีมข่าวผู้จัดการ LIVE, www.manager.co.th