วันนี้(30ม.ค.59)นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือกสม. ในฐานะประธานอนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร เตรียมลงพื้นที่บ้านราไวย์ ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ โดยอนุกรรมการสิทธิชุมชนฯจะลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ พร้อมตั้งข้อสงสัยที่มาของเอกสารสิทธิที่ออกมาเหมือนเป็นการไล่คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มาก่อนต้องออกจากพื้นที่
ทั้งนี้จากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2553 ได้แต่งตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล โดยเฉพาะชาวเลในแถบจังหวัดฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งตนเป็นหนึ่งในกรรมการชุดดังกล่าว โดยมีงานวิจัยระบุว่า ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่หาดราไวย์ ได้ตั้งถิ่นที่อยู่อาศัยมาเป็นเวลายาวนานกว่า 200 ปี ปัจจุบันนี้ชุมชนราไวย์มีราวประมาณ 250 ครัวเรือน และวิถีชีวิตในพื้นที่ดังกล่าว นอกจากจะมีการทำประมงเพื่อดำรงชีพ พื้นที่นี้ยังใช้ทำพิธีกรรรมหรือเป็นพื้นที่ทางจิตวิญญาณ แต่ก็เป็นชุมชนที่อยู่กันอย่างแออัด ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง มติครม.ที่ให้ตั้งกรรมการชุดดังกล่าวก็เพื่อเป็นการฟื้นฟูวิถีชีวิต สร้างขวัญกำลังใจให้ชาวบ้าน จึงเป็นประเด็นหนึ่งที่นางเตือนใจจะเข้าไปติดตามความก้าวหน้า
นอกจากนี้ กสม. ก็จะตรวจสอบด้วยว่า การได้โฉนดที่ดินในพื้นที่ดังกล่าวของบริษัทเอกชน มีความเป็นมาอย่างไร เป็นไปอย่างถูกต้องหรือไม่ และหน่วยงานภาครัฐอย่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หรือทช. ทำไมจึงมีการห้ามไม่ให้ชาวบ้านทำมาหากินด้วยการทำประมงในพื้นที่นั้น
ที่ผ่านมาชาวบ้านได้ถูกกดดันอย่างมาก ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจำนวนหลายคน ทั้งที่นิสัยพื้นฐานของชาวเลค่อนข้างเป็นคนรักสงบและไม่ถือสิทธิครอบครอง กสม.ก็จะตรวจสอบด้วยว่าหากมีการซื้อที่ดินในบริเวณนั้น ได้มีมาตรการในเยียวยาช่วยเหลือชาวบ้านและมีการประนีประนอมกันหรือไม่ ต้องเข้าใจว่าในพื้นที่หาดราไวย์สามารถเข้าไปฟื้นฟูให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้ หน้าที่ กสม.จึงต้องเข้าไปส่งเสริมเพื่อให้เกิดการคุ้มครองทางสิทธิมนุษยชน
ขณะที่เมื่อวานนี้ที่ศาลากลางจังหวัดสตูล มีการประชุมคณะกรรมการแก้ปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเล โดยมี พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง อดีตประธานคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือพอช. เป็นประธาน
ปรากฏว่า กลุ่มชาวเลจากเกาะหลีเป๊ะที่เดินทางมาร่วมประชุม ได้ร้องขอความเป็นธรรมจากกรณีถูกกลุ่มนายทุนและผู้มีอิทธิพลบนเกาะสั่งให้ย้ายออกจากพื้นที่ทำกิน เนื่องจากชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะก็อาศัยทำกินอยู่ในพื้นที่มานาน แต่ท้ายที่สุดก็ถูกนายทุนนำเอกสารสิทธิ์มาอ้างแล้วขับไล่ชาวบ้านออกไป