“ขนคุด” ปัญหาผิวพรรณที่ทำให้ผิวมีลักษณะเป็นจุดๆ ไม่เรียบเนียน เป็นตุ่มนูน ดูคล้ายหนังไก่ที่ถูกถอนขน สร้างความรำคาญใจให้คุณผู้หญิงไม่น้อย
นพ.ชัยประสิทธิ์ บาลมงคล แพทย์เฉพาะทางโรคผิวหนัง โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า ในทางการแพทย์เราเรียกอาการลักษณะนี้ว่า “Keratosis Pilaris” หรือชื่อภาษาไทยคือ “ขนคุด” ซึ่งภาษาของเราเลือกใช้คำได้อย่างน่าสนใจ เพราะคนที่เป็นและเคยแกะตุ่มประเภทนี้ออกมาดู จะพบเส้นขนอยู่ภายใน ลักษณะเหมือนเส้นขนนั้นคุดหรือขดอยู่ใต้ผิวหนัง เมื่อเราดูให้ละเอียดมากขึ้นจะพบว่า ผิวส่วนนั้นมีการผลัดเซลล์ผิวที่ไม่สม่ำเสมอ ทำให้เหลือเศษหนังกำพร้าหรือเส้นขนค้างอยู่ที่ผิว โดยเฉพาะบริเวณรูเปิดของรูขุมขน โดยตุ่มที่เกิดขึ้นอาจจะมีสีเนื้อเช่นเดียวกับผิว หรือมีสีชมพูไปจนถึงแดงถ้ามีอาการอักเสบร่วมด้วย นอกจากที่ต้นแขนแล้ว ยังสามารถพบขนคุดได้บ่อยที่บริเวณต้นขา และในรายที่เป็นมากอาจพบที่ใบหน้า หน้าอก และหลังได้ด้วย
ใครมีโอกาสเป็นขนคุดบ้าง?
ต้องบอกว่าคนทั่วไปเป็นขน คุดกันเยอะมาก โดยเฉพาะช่วงวัยรุ่น พบได้มากถึงร้อยละ 80 เลยทีเดียว เพียงแต่ความรุนแรงอาจจะแตกต่างกันไป บางคนเป็นมากเห็นชัด บางคนเป็นเพียงเล็กน้อย โดยผิวลักษณะนี้ถ่ายทอดทางพันธุกรรม จากประวัติจะพบว่ามีบุคคลในครอบครัวมีอาการเช่นเดียวกันได้ถึงร้อยละ 50 ส่วนใหญ่พอพ้นช่วงวัยรุ่นไปแล้วอาการจะค่อยๆ ดีขึ้น แต่บางรายอาจมีหลงเหลืออยู่บ้าง นอกจากนี้ เราจะพบภาวะขนคุดได้บ่อยมากขึ้นในคนที่มีผิวแห้ง หรือเป็นโรคภูมิแพ้
การแก้ปัญหาขนคุด
ความ จริงแล้วขนคุดนั้นไม่มีอันตรายใดๆ กับร่างกาย เป็นแค่ลักษณะของผิวอย่างหนึ่งเท่านั้น และทางการแพทย์ก็ไม่ถือว่าเป็นโรคด้วยซ้ำ แต่สำหรับสาวๆ คงยอมไม่ได้ เพราะทำให้หมดความมั่นใจ ไม่กล้าเผยผิวออกมานอกร่มผ้า แต่อย่าเพิ่งตกอกตกใจไปว่าจะไม่มีทางรักษา หรือยอมแพ้ไปเสียก่อน เพราะว่าปัญหานี้แก้ไขได้ อย่างที่เกริ่นไปข้างต้นแล้วว่า สาเหตุของผิวลักษณะนี้ คือการผลัดของหนังกำพร้าที่ไม่สมบูรณ์ ดังนั้นยาหรือสารที่ช่วยในการผลัดเซลล์ผิว เช่น กรดผลไม้ กรดซาลิไซลิก หรือสารเรตินอยด์ สามารถทำให้รอยโรคหลุดลอกออกช้าๆ เมื่อทาสารดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ผิวก็จะเนียนเรียบกว่าเดิม
หลีกเลี่ยงการแกะเกา บางคนเห็นผิวไม่เรียบ หรือนึกว่าเป็นสิว จึงพยายามบีบ เค้น แกะ หรือเกา วิธีการดังกล่าวเป็นเพียงแค่การดึงเศษหนังกำพร้าออกมา ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาที่ต้นตอของสาเหตุ ดังนั้นตุ่มใหม่ก็สามารถเกิดขึ้นเรื่อยๆ แถมยังมีโอกาสติดเชื้อ เป็นแผล เกิดเป็นรอยดำ รอยด่าง สีผิวไม่สม่ำเสมอตามมา เดือดร้อนวุ่นวายจนต้องวิ่งหายาแก้ไขแผลเป็นมาทา หรือต้องทำเลเซอร์กันเลยทีเดียว
วิธีการทำความสะอาดผิวก็สำคัญ เพราะถ้าล้างขัดถูผิวด้วยสารเคมีหรือสบู่บ่อยๆ ทำให้ผิวแห้งและระคายเคืองง่าย เราจึงควรทำความสะอาดผิวด้วยสบู่อ่อนๆ ที่ไม่ทำให้ผิวแห้งตึง และไม่ขัดถูแรงๆ เพราะทำให้ผิวระคายเคืองและอักเสบได้ นอกจากนี้ หลังอาบน้ำ ควรหมั่นทาครีมบำรุงเพื่อให้ผิวชุ่มชื้น เพราะภาวะผิวที่แห้งเกินไป จะกระตุ้นให้ขนคุดเห่อหรือกำเริบได้ง่ายขึ้นโดยเฉพาะช่วงฤดูหนาว
แนะนำให้ทาครีมบำรุงทุกครั้งหลังอาบน้ำเพื่อกักความชุ่มชื้นไว้ในผิว โดยครีมบำรุงที่ใช้ควรมีส่วนประกอบของกรดผลไม้ เพื่อเร่งการหลุดลอกของเซลล์หนังกำพร้าที่ตายแล้วออกไป และอีกขั้นตอนที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การทาครีมหรือโลชั่นกันแดดเป็นประจำ เพื่อไม่ให้ผิวถูกทำลายหรือเกิดเม็ดสีที่ไม่สม่ำเสมอ อาจเข้าคอร์สขัดและนวดผิว เพื่อขจัดเซลล์ที่ค้างอยู่บนผิวให้หลุดลอกออกอย่างสมบูรณ์ และยังกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ส่งผลให้มีการสร้างผิวใหม่ที่แข็งแรง และสดใสกว่าขึ้นมาแทนที่ โดยควรทำอย่างต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้ง ไม่ควรลองครีมใหม่ๆ พร่ำเพรื่อ เพราะถ้าเกิดปัญหาจะแก้ไขได้ยากกว่าเดิม ในรายที่เป็นมากแนะนำให้พบแพทย์ เพื่อพิจารณาใช้ยาหรือการรักษาวิธีอื่นร่วมด้วย.
ขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์ผิวหนังเลเซอร์และความงาม โรงพยาบาลเวชธานี
www.vejthani.com