ที่มา: tnamcot

หลายคนสงสัยการนั่งห้องน้ำนาน นั่งไปอ่านหนังสือไป หรือเล่นโทรศัพท์มือถือไปด้วย ทำให้เป็นโรคริดสีดวงทวารหนักจริงหรือ? คุณหมอชี้แจงว่าหากท้องไม่ผูก ไม่ได้เบ่ง ความเสี่ยงที่จะเป็นก็ลดลง

300x194x1436429247-d50e0267af7bae4bb7b57dc776417424-300x194.jpg.pagespeed.ic.GMP9QCBg1d

ริดสีดวงทวารหนักเป็นโรคที่พบบ่อย เกิดจากความผิดปกติของติ่งเนื้อทวารหนักยื่นออกมา มีเลือดออกขณะถ่ายอุจจาระและหลังถ่าย อาการแรกๆ มักเป็นๆ หายๆ ไม่รุนแรง หากปล่อยไว้นานอาจถึงขั้นรุนแรง ไม่สามารถใช้มือดันติ่งเนื้อกลับเข้าไปในทวารหนักได้ บวม ปวด นั่งลำบาก บางรายอาจคันรอบทวารหนัก ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน

ริดสีดวงทวารหนักแบ่งเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ
1. ริดสีดวงทวารหนักภายใน เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด เกิดติ่งเนื้อบวมภายในทวารหนัก มักไม่มีอาการเจ็บ แต่จะมีเลือดออกขณะถ่ายอุจจาระ
2.ริดสีดวงทวารหนักภายนอก จะมีติ่งเนื้อนุ่มๆ ยื่นออกมา มักมีอาการปวด และมีเลือดออกขณะเบ่งอุจจาระ
ริดสีดวงทวารภายในและภายนอกจะเกิดร่วมกันได้บ่อยครั้ง การดูแลรักษาพิจารณาจากชนิดและความรุนแรงของโรค การรักษามุ่งเพื่อบรรเทาอาการ และไม่จำเป็นต้องขจัดหัวริดสีดวงทวารที่มีอยู่ทั้งหมด

สาเหตุของริดสีดวงทวารหนัก
ส่วนใหญ่เกิดจากการเบ่งถ่ายอุจจาระบ่อยๆ นานๆ เป็นผลจากท้องผูก ตั้งครรภ์ พฤติกรรมการดำรงชีวิต หรือชอบอ่านหนังสือขณะขับถ่าย เล่นโทรศัพท์ ยกของหนัก นั่งหรือยืนท่าใดท่าหนึ่งนานๆ และการกลั้นอุจจาระ การเบ่งอุจจาระบ่อยๆ นานๆ ทำให้ระดับแรงดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น ส่งผลการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดดำบริเวณทวารหนักไม่สะดวก เกิดการยืด ย่น พอง และโตเป็นติ่งเนื้อ เมื่อมีอุจจาระแข็งๆ มาเสียดสี หรือเพิ่มระดับแรงดันขึ้นอีก ทำให้หลอดเลือดดำปริแตกหรือฉีกขาด จนเลือดไหลออกมาขณะขับถ่าย

300x240x1436430032-a670e2837e92d672db1b47727a63c0a5-300x240.jpg.pagespeed.ic.dXL7T1Kint

ด้าน พล.ท.รศ.นพ.ปริญญา ทวีชัยการ นายกวิทยาลัยศัลยแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย กล่าวในรายการสโมสรสุขภาพ ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี ว่า กลไกการเกิดริดสีดวง โดยปกติปากทวารหนักของเรามักมีเนื้อเยื่อที่นูนขึ้นมานิดหนึ่ง เรียกว่า “เบาะรอง” การเบ่งทำให้เนื้อเยื่อเลื่อนลงมาหรือโผล่ออกมาข้างนอก กลายเป็นริดสีดวงทวารหนัก หนังก็จะบาง เมื่อมีอุจจาระแข็งๆ มาขูด ทำให้เลือดออกง่าย และเจ็บ

ส่วนการนั่งอ่านหนังสือหรือเล่นโทรศัพท์มือถือในห้องน้ำนานๆ ทำให้เสี่ยงเป็นริดสีดวงจริงหรือไม่ คุณหมออธิบายว่า หากนั่งแล้วไม่ได้เบ่งอุจจาระ โอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคนี้ก็น้อยลง แต่เมื่อนั่งนานๆ ก็อดที่จะเบ่งไม่ได้ และเมื่อมีปัจจัยเร่งคือ อาการท้องผูก ทำให้ต้องออกแรงเบ่ง จึงเสี่ยงต่อการเกิดโรคริดสีดวงทวารหนัก

การถ่ายอดอุจจาระ ปกติลำไส้จะบีบตัว คนที่อายุมาก เคลื่อนไหวร่างกายน้อย ลำไส้จะบีบตัวน้อยตามไปด้วย ดังนั้น ต้องออกกำลังกาย เคลื่อนไหวร่างกายบ้าง เพื่อให้ลำไส้บีบตัว ซึ่งการผายลมก็ทำให้ลำไส้ขยับได้เช่นกัน

ระดับความรุนแรงของริดสีดวงทวารหนัก เบ่งเป็น 4 ระยะ คือ

  1. ระยะที่ยังไม่มีติ่งเนื้อหรือก้อนยื่นออกมานอกทวารหนัก
  2. ระยะที่เริ่มมีติ่งเนื้อหรือก้อนยื่นออกมาขณะเบ่งถ่ายอุจจาระ และจะหดกลับเข้าไปได้เอง โดยไม่ต้องใช้มือช่วยดันเข้าไป
  3. ระยะที่มีติ่งเนื้อหรือก้อนยื่นออกมาขณะเบ่งอุจจาระ แต่ไม่หดกลับเข้าไปได้เอง จะต้องใช้มือช่วยดันเข้าไป
  4. ระยะนี้มีติ่งเนื้อหรือก้อนยื่นออกมาแล้ว ไม่สามารถใช้มือดันติ่งเนื้อนี้เข้าไปในทวารหนักได้เลย

กลุ่มเสี่ยงเกิดริดสีดวงทวารหนัก

  • ท้องผูก การนั่งแช่นานๆ รวมทั้งนั่งถ่ายอุจจาระนานๆ ทำให้ต้องเบ่งอุจจาระเป็นประจำ แรงเบ่งจะเพิ่มความดัน และ/หรือการบาดเจ็บในกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด ส่งผลให้หลอดเลือดโป่งพอง หรือหลอดเลือดขอดได้ง่าย
  • ท้องเสียเรื้อรัง การอุจจาระบ่อยๆ จะเพิ่มความดัน และ/หรือการบาดเจ็บต่อกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือดเช่นกัน
  • ผู้สูงอายุจะมีการเสื่อมของเนื้อเยื่อต่างๆ รอบหลอดเลือด รวมทั้งของกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด หลอดเลือดจึงโป่งพองได้ง่าย
  • หญิงตั้งครรภ์ เพราะน้ำหนักของครรภ์จะกดทับลงบนกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด จึงเกิดหลอดเลือดบวมพองได้ง่าย
  • โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน ส่งผลให้เพิ่มแรงดันในช่องท้องและในอุ้งเชิงกรานสูงขึ้น เช่นเดียวกับในหญิงตั้งครรภ์
  • การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก เกิดการกดเบียดทับ ทำให้บาดเจ็บต่อกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือดส่วนนี้เรื้อรัง จึงมีเลือดคั่งในหลอดเลือด เกิดโป่งพองได้ง่าย

การดูแลตนเองให้ห่างไกลความเสี่ยงริดสีดวงทวารหนัก

  1. เลี่ยงอาการท้องผูก เพราะเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดโรค ทำให้ต้องเบ่ง เพราะอุจจาระจะแข็ง ดังนั้นควรรับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ น้ำผลไม้ ธัญพืช และดื่มน้ำมากๆ เพื่อช่วยให้อุจจาระนุ่ม ขับถ่ายคล่องขึ้น
  2. เลี่ยงการกลั้นอุจจาระ
  3. ไม่ควรนั่งหรือเบ่งอุจจาระโดยไม่รู้สึกปวดถ่าย
  4. ควรหลีกเลี่ยงการขัดถูบริเวณทวารหนักรุนแรง เพราะจะยิ่งทำให้ระคายเคืองริดสีดวงทวาร
  5. ออกกำลังสม่ำเสมอ เพราะจะช่วยกระตุ้นการเคลื่อนของลำไส้ ทำให้ถ่ายอุจจาระง่ายขึ้น

โรคริดสีดวงทวารหนักมีหลายสาเหตุ แต่ส่วนใหญ่เกิดจากการเบ่งอุจจาระนานๆ มักเกิดการท้องผูก การรับประทานอาหารดี มีประโยชน์ ไฟเบอร์สูง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่เครียด ยิ้มบ้างหัวเราะบ้าง เลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง ก็จะช่วยป้องกันและบรรเทาอาการเกิดโรค ไม่เฉพาะริดสีดวงทวารหนักเท่านั้น แต่ยังรวมถึงโรคอื่นๆ ด้วย เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมันในเส้นเลือด โรคหัวใจ… ดูแลตัวเองดี ชีวีห่างไกลโรค.

เรื่องน่าสนใจ