ที่มา: dodeden

ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่า  นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กรมสุขภาพจิต พบปัญหาพฤติกรรมเสพติดเกมทวีความรุนแรงขึ้น เพียง 3 เดือนแรกปีนี้พบเด็กและวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 16  ปีเสพติดเกมและป่วยทางจิตเวช ร่วม อาทิ  สมาธิสั้น โรคดื้อต่อต้าน ซึมเศร้า จำนวน 53 คน เพิ่มสูงขึ้น 1.5 เท่าตัวในรอบ 3 ปี ร้อยละ 96 เป็นชาย อายุน้อยสุดเพียง 5 ขวบ 

ที่น่าห่วงมากขณะนี้และขอย้ำเตือนให้พ่อแม่เฝ้าระวังลูกหลานคือเกมต่อสู้ออนไลน์ประเภทเกมโมบ้า ที่เล่นกันเป็นทีม กำลังได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่นและเยาวชนทั่วโลก และทำให้ประชาชนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นกีฬาทางสมอง ข้อเท็จจริงมีอันตรายทำให้สมองติดเกม เป็นพฤติกรรมเสพติดที่เลิกยาก กำลังกลายเป็นสาเหตุหลักทำให้เด็กติดเกม  เร่งพัฒนารูปแบบบำบัดรักษาวัยรุ่นติดเกมหรือมีความเสี่ยงติดเกมแนวใหม่ ฝึกควบคุมพฤติกรรมตนเอง  และเปิดแอพพลิเคชั่นชื่อ ค้นพบความสุขกับลูกวัยรุ่น  เพื่อเสริมระบบความเข้มแข็งครอบครัว

ขณะนี้กรมสุขภาพจิตได้เร่งพัฒนาระบบบริการรักษาและป้องกันปัญหาเด็กติดเกม  ซึ่งกำลังมีแนวโน้มขยายตัวรุนแรงขึ้น  ศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กติดเกม  สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ รายงานว่าใน 2560 นี้

ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม -31 มีนาคม เพียง 3 เดือน  พบผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่นที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีปัญหาพฤติกรรมและอาการเสพติดเกมอยู่ในระดับปานกลางถึงรุนแรงที่ต้องเข้ารับการบำบัดรักษาทางจิตเวชอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง  รวมจำนวน 53 คน ซึ่งเป็นสถิติที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 1.5 เท่าตัวในรอบ 3 ปี   ร้อยละ 96 เป็นชาย 

โดยจิตแพทย์ตรวจพบว่าเด็กกลุ่มนี้จะมีโรคร่วมทางจิตเวช เช่น โรคสมาธิสั้น,  โรคดื้อต่อต้าน, โรควิตกกังวล, โรคซึมเศร้า, โรคกล้ามเนื้อตากระตุก  โรคบกพร่องทักษะการเรียนรู้ นอกจากนี้ยังพบปัญหาพฤติกรรมโกหก  ขโมยเงิน  เล่นการพนัน หนีเรียน ไม่ยอมไปโรงเรียนและหนีออกจากบ้าน 

ส่วนใหญ่พบในกลุ่มอายุ 14 – 16 ปี แนวโน้มพบอายุน้อยลงเรื่อยๆ  น้อยที่สุดคือ 5 ชวบ ซึ่งสัมพันธ์กับปัญหาการเลี้ยงดูแบบปล่อยปละละเลย   นับว่าเป็นเรื่องที่น่าห่วงมาก  โดยเรื่องติดเกมนี้ยังเป็นปัญหาอันดับ 2  ที่พ่อแม่โทรปรึกษาสายด่วน 1323  รองจากปัญหาสุขภาพจิตวัยรุ่นเช่น  เรื่องความรัก

“เรื่องที่น่ากังวล  ขณะนี้ประชาชนไทยยังเข้าใจผิดคิดว่า เกมบนสมาร์ทโฟน  เกมออนไลน์ การแข่งขันเกมต่อสู้ออนไลน์ คือของเล่นของเด็กทุกวัย  และที่น่าวิตกยิ่งไปกว่านั้น  ยังเข้าใจผิดว่าการแข่งขันเกมต่อสู้ออนไลน์ที่รู้จักกันว่าโมบ้า  ( Multiple Online Battle Arena :  MOBA )  ซึ่งเป็นเกมที่มีลักษณะจำลองการต่อสู้เสมือนจริงของทั้ง 2  ฝ่ายที่กำลังได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่นและเยาวชนทั่วโลก เล่นกันเป็นทีม  ผู้เล่นสามารถควบคุมตัวละครฮีโร่ของตัวเอง พูดคุยสื่อสารกับผู้เล่นอื่น

และหลายคนยังเข้าใจผิดว่าเกมชนิดนี้เป็นกีฬาทางสมองหรือที่เรียกว่าอี-สปอร์ต(  E-Sports) ซึ่งแท้จริงแล้วเกมโมบ้านี้มีอันตรายต่อสมองที่บริเวณสมองส่วนหน้าของเด็ก และวัยรุ่นซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการคิดวิเคราะห์ สมาธิ ความจำ และการตัดสินใจด้วยเหตุผล  ซึ่งมีผลต่อการควบคุมความคิด  อารมณ์และพฤติกรรมโดยตรง  สมองส่วนนี้จะทำงานลดลง

ในขณะที่สมองส่วนอยากหรือที่เรียกว่าระบบลิมบิก จะทำงานเพิ่มขึ้นเมื่อได้รับการกระตุ้นด้วยความอยากความสนุกตื่นเต้นความท้าทายจากการต่อสู้และการได้คะแนนหรือชัยชนะในเกมบ่อยๆซ้ำๆต่อเนื่องนานๆ จะนำไปสู่วงจรสมองติดเกมในที่สุด เป็นการเสพติดทางพฤติกรรมจนเกิดความเคยชิน จึงเลิกยากมาก ซึ่งขณะนี้จิตแพทย์พบว่าเกมชนิดนี้กำลังเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กติดเกมมากจนต้องเข้ารับการบำบัด ”อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว

อาการแสดงของพฤติกรรมเสพติด จะเริ่มจากความอยากกระหายที่จะเล่นเกม ใช้เวลาเล่นนานขึ้น เมื่อไม่ได้เล่นเกมจะมีลักษณะอาการถอนคือ มีอารมณ์หงุดหงิด วิตกกังวล กระวนกระวาย จนถึงขั้นพฤติกรรมก้าวร้าว และเสียหน้าที่ในชีวิตประจำวัน เช่นผลการเรียนแย่ลง ขาดสมาธิในการเรียน/การทำงาน แยกตัวไม่เข้าสังคม และสัมพันธภาพในครอบครัวแย่ลง  จึงไม่แนะนำให้เล่นเกมชนิดนี้

สิ่งที่จำเป็นเร่งด่วนขณะนี้ก็คือการเลี้ยงดูบุตรหลานในยุคดิจิตอลให้มีความปลอดภัยในการใช้สื่อออนไลน์ทุกชนิด พ่อแม่ผู้ปกครองอย่าปล่อยปละละเลยลูกอย่างเด็ดขาด ต้องมีกฎกติกาภายในบ้านอย่างชัดเจน อาทิ วินัยและการรับผิดชอบการเรียนในชีวิตประจำวัน การแบ่งเวลาการเล่น

การมีเวลาสำหรับกิจกรรมกีฬา กิจกรรมร่วมในครอบครัว  ควรเอาใจใส่การใช้เวลากับอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์อินเตอร์เน็ตของลูกอย่างใกล้ชิด ควรทำความรู้จักกับเกมก่อนตัดสินใจให้ลูกเล่น เป็นต้น  สิ่งที่ไม่ควรทำเลยคือการหยิบยื่นเกมให้เด็กเล่นแทนของเล่น หรือเป็นของรางวัล

ทางด้าน แพทย์หญิงมธุรดา สุวรรณโพธิ์  ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็ก และวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า   เด็กทุกคนที่เล่นเกมจะมีโอกาสติดเกม  สถาบันฯ ได้ร่วมกับรพ.รามาธิบดีและศิริราชพยาบาลศึกษาปัญหาติดเกมในประเทศไทยในพ.ศ.2558  พบว่า วัยรุ่นไทยมีอัตราเสพติดเกมร้อยละ 13.3 -16.6    

จึงคาดว่ามีวัยรุ่นไทยติดเกมประมาณ 1.3 – 1.6 ล้านคน แนวโน้มเพิ่มขึ้น  ขณะเดียวกันเด็กที่ติดเกมส่วนมากจะมีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักกีฬาอี-สปอร์ต  ซึ่งโอกาสที่จะเป็นซุปเปอร์สตาร์ในวงการนักแข่งเกมมีน้อยมากเพียง 0.00007  เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

นอกจากนี้ยังพบวัยรุ่นมีแนวโน้มก่อพฤติกรรมรุนแรงจากการเลียนแบบเกมที่เล่น  และยังมีพฤติกรรมเสี่ยงเข้าถึงเกมพนันในหมู่วัยรุ่นอายุ15-24 ปี   เป็นนักพนันหน้าใหม่ร้อยละ 0.6 ด้วย

“อาการที่แสดงว่าเด็กกำลังเกิดปัญหาติดเกมที่ผู้ปกครองต้องพาไปพบจิตแพทย์โดยด่วน  ได้แก่ เด็กใช้เวลาหมกมุ่นอย่างมากกับการเล่นเกม อินเตอร์เน็ต  จนเกิดการกระหายโอกาสในการเข้าถึง  เด็กใช้เวลาเล่นนานกว่า 2  ชั่วโมงและมีอาการถอนคือ อาการหงุดหงิด กระวนกระวาย อาละวาดเมื่อบอกให้หยุดเล่นเกม

เด็กอาจมีอาการแตกต่างกันเช่นบางคนแค่หงุดหงิด บางคนรุนแรงทำลายข้าวของ  ทำร้ายพ่อแม่ ทำร้ายตัวเอง  ขาดสมาธิการเรียน โดดเรียน  ไม่ยอมไปโรงเรียน บางคนอดนอน  ขโมยเงิน  ท้อแท้สิ้นหวังในโลกความเป็นจริง”

แพทย์หญิงมธุรดา กล่าว สำหรับการบำบัดรักษาเด็กที่ติดเกม  ในปัจจุบันจะใช้ยาทางจิตเวชรักษาร่วมกับการทำจิตบำบัดรายบุคคล  กลุ่มบำบัดและครอบครัวบำบัด เพื่อปรับพฤติกรรมอารมณ์และความคิด  แต่ละรายใช้เวลารักษาไม่ต่ำกว่า 2 ปี  

ขณะนี้สถาบันฯได้พัฒนาระบบบริการรักษาที่เป็นมิตรกับวัยรุ่น โดยพัฒนาโปรแกรมบำบัดชนิดใหม่ในรูปแบบกิจกรรมค่ายบำบัดครอบครัวที่มีเด็กติดเกม  ( Family Smart Player Camp) ภายใต้แนวคิด ฉลาดเล่น รู้วินัย ฉลาดรัก  รู้จักเลือก 

เป็นกิจกรรมการเรียนรู้และแสดงออกอย่างสร้างสรรค์  ใช้ทีมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น นักจิตวิทยา พยาบาล  นักสังคมสงเคราะห์ดำเนินการ ใช้เวลา 3 วัน   เพื่อให้วัยรุ่นตระหนักเข้าใจและเรียนรู้เกี่ยวกับปัญหาติดเกม   พัฒนาความคิด การตัดสินใจ ความกล้าหาญ ความภาคภูมิใจ จัดไปแล้ว 1 รุ่น  พบว่าได้ผลดี  สถาบันฯจะทำการศึกษาติดตามประเมินผล  เพื่อพัฒนาให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น

นอกจากนี้สถาบันฯ ยังได้เปิดแอพพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า ค้นพบความสุขกับลูกวัยรุ่น  เพิ่มช่องทางให้ความรู้แก่พ่อแม่ที่มีลูกอยู่ในวัยรุ่นได้เข้าใจธรรมชาติวัยรุ่นมากขึ้น  รู้วิธีพูดกับวัยรุ่นได้อย่างเข้าใจ  ประชาชนสามารถดาวน์โหลดแอพฯนี้ฟรีในเพลย์สโตร์ ทั้งระบบไอโอเอสและแอนดรอยด์

ขณะนี้มีผู้ดาวน์โหลดแล้วกว่า 1,000 ครั้ง  ได้รับการตอบรับจากผู้ใช้ว่าเป็นแอพพลิเคชั่นที่เหมาะสำหรับการสื่อสารกับลูกในยุคดิจิตอล  อย่างไรก็ดีหากพ่อแม่ต้องการขอรับคำปรึกษาการเลี้ยงลูกวัยรุ่น  สามารถโทรที่สายด่วน 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมงได้เช่นกัน

เรื่องน่าสนใจ