จากกรณีนักแสดงและพิธีกรหนุ่ม น็อต อัครณัฐ เจ้าของรถมินิ คูเปอร์ สีเหลือง ทำร้ายร่างกายคู่กรณีที่ขี่รถจักรยานยนต์เฉี่ยวรถตัวเอง และบังคับให้คู่กรณีกราบรถรถมินิ คูเปอร์ จนทำให้เกิดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในสังคม และทำให้วลีเด็ด “กราบรถกู” กลายเป็นกระแสในโลกโซเชียล และนำเหตุการณ์ดังกล่าวไปล้อเลียนในหลากหลายรูปแบบนั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ล่าสุด (7 พฤศจิกายน 2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ผู้ที่ใช้ความรุนแรงในกรณีที่ไม่ใช่ผู้ป่วยทางจิตเวช แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. ผู้ที่มีความเครียดสะสมทำให้มีปัญหาเรื่องการควบคุมอารมณ์ความโกรธ ความไม่พอใจ ทำให้มีปัญหากระทบกระทั่งกับคนอื่นได้ง่าย เป็นปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและสังคม การแก้ปัญหาจะต้องเรียนรู้ที่จะควบคุมตัวเอง ไม่ปล่อยให้มีความเครียดสะสม แต่ส่วนใหญ่ก็จะเครียดโดยไม่รู้ตัว
2. ผู้ที่มีการใช้ความรุนแรงจนเป็นบุคลิก เป็นนิสัย จะต้องเรียนรู้และฝึกตัวเองใหม่หมด โดยต้องรู้จักอารมณ์ของตัวเอง ฝึกเทคนิคควบคุมความโกรธ เช่น การหยุดความคิด การนับเลข คอยเตือนตัวเอง ทั้งนี้การปรับเปลี่ยนตรงนี้อาจจะต้องปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ อาทิ จิตแพทย์ นักจิตวิทยา เป็นต้น
ทั้งนี้ การที่สังคมออนไลน์เข้าไปแสดงความเห็นในเชิงสร้างความเกลียดชังนั้น เป็นภาพสะท้อนของสังคมไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาว่า ไม่ได้มีความเข้าใจในความแตกต่างของการจัดการปัญหาการกระทำผิดที่แตกต่างกัน กรณีนี้ผิดก็ควรว่าไปตามกระบวนการทางกฎหมาย แต่ไม่ใช่มาด่าทอ ซ้ำเติมกัน