การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๙ จัดขึ้นเนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ ๗๐ ปี และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระชนมพรรษาครบ ๗ รอบ
เตรียมเปิดฉากการแสดง ตอน “พิเภกสวามิภักดิ์” ในระหว่างวันที่ ๕ พฤศจิกายน – ๕ ธันวาคม ๒๕๕๙ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ด้วยความอลังการของทุกองค์ประกอบการแสดง โดยเฉพาะฉากและอุปกรณ์ประกอบฉาก ที่เป็นส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์จินตนาการให้สมจริง
อาจารย์สุดสาคร ชายเสม ผู้ออกแบบฉากและอุปกรณ์ประกอบฉาก การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้กล่าวถึงการจัดเตรียมฉาก ระบุว่า
“สำหรับการเตรียมงานในด้านฉากและอุปกรณ์ประกอบฉากการแสดงโขนฯ ในปีนี้ เสร็จสมบูรณ์ไปกว่า ๖๐% แล้ว เนื่องจากในปีนี้เป็นปีมหามงคลและครบหนึ่งทศวรรษของโขนพระราชทาน จึงจัดทำกรอบเวทีที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมฯ ขึ้นมาใหม่เฉพาะกิจ มีประติมากรรมเหล่าเทพยดา
ไม่ว่าจะเป็น พระศิวะนาฏราช, พระนารายณ์, พระพรหม, พระพิฆเนศวร, พระธนบดี (กุเวร) ฯลฯ ออกแบบพิเศษเป็นสีทองไล่น้ำหนัก ให้เกิดความสวยงามมีมิติ
สำหรับฉากที่จะใช้ในการแสดงทั้งหมด ๙ ฉากใหญ่ ซึ่งนับว่าเยอะที่สุดตั้งแต่เคยมีการจัดแสดงโขนพระราชทานมา โดยแบ่งเป็น ฉากต่างๆ ดังนี้
๑) ฉากท้องพระโรงกรุงลงกา ฉากคลาสสิก ที่ประทับของทศกัณฐ์ เนื่องด้วยฉากนี้เป็นเรื่องราวพิเภกถูกขับ ดังนั้น กรุงลงกาจะถูกเปลี่ยนหน้าตาเพื่อสื่อถึงอารมณ์ในฉากนี้ให้มากที่สุด จากเดิมที่เป็นเรือนแก้ว ก็ปรับเป็นบุษบกเกริน มีฉัตรฉลุ ๗ ชั้น ปักทั้ง ๒ ด้าน แวดล้อมด้วยต้นไม้เงิน-ทอง คชสีห์ ราชสีห์ ให้กรุงลงกามีความสง่างาม สื่อถึงความยิ่งใหญ่ของทศกัณฐ์
๒) ตำหนักพิเภก เป็นตำหนักไม้ มีเครื่องยอดใบระกาตามชั้นยศ โดยในฉากนี้จะมีการใช้เทคนิคพิเศษ คือ Turn Table ในการหมุนกลับด้านได้
๓ ฉากสำเภา นับเป็นฉากไฮไลต์ สื่ออารมณ์โดยใช้ท้องทะเลแทนความเวิ้งว้าง เปรียบเสมือนจิตใจของพิเภกที่ล่องลอยไป โดยนอกจากสำเภาแล้ว พิเภกจะลงเรือสำปั้นเล็กเพื่อเดินทางไปยังฝั่งทวีปอีกด้วย สำหรับสำเภา ความยาวตัวเรือยาวร่วม ๑๐ เมตร และความสูงของเสากระโดง ๗.๕ เมตร สามารถชักใบ – ลดใบได้เหมือนจริง
โดยได้รับความร่วมมือจากกองทัพเรือ มีการเชิญนายทหารเรือมาแนะนำกลไกการก่อสร้างเรือสำเภา และสอนนักแสดงเรื่องการชักใบเรือ เพื่อให้เกิดความสมจริงอย่างที่สุด
นอกจากนั้น ยังมี ๔) ฉากป่า ๕) ฉากพลับพลาพระราม ๖) ท้องพระโรง ฝ่ายในกรุงลงกา ๗) สนามรบ ซึ่งการแสดงในปีนี้ ใช้ราชรถถึง ๓ คัน จากทุกปีที่ใช้เพียง ๒ คัน โดยเป็นราชรถของ พระราม, พระลักษณ์ และทศกัณฐ์ ๘) ปราสาทกรุงลงกา และ ๙) ห้องบรรทมทศกัณฐ์”
อาจารย์สุดสาคร ยังเล่าถึงความพิเศษของฉากสำเภาว่า “เรือสำเภาออกแบบให้เป็นเรือแบบจีน เพราะในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๒ มีการติดต่อค้าขายกับจีน โดยแบบเรือสำเภาได้มาจากการค้นคว้าแบบเรือโบราณจากพิพิธภัณฑ์เรือ ประกอบกับภาพจิตรกรรมเก่า นำมาออกแบบเป็นเรือสำเภาในการแสดงครั้งนี้ ที่สวยงามทางศิลปกรรมและมีลักษณะถูกต้องตามแบบเรือโบราณ
โดยปกติสำเภาจะมี ๒ สี คือ เขียวและแดง ซึ่งในการแสดงครั้งนี้เลือกใช้สีแดง อีกทั้งยังมีกลไก รอก สมอ เหมือนจริง เพื่อให้เรือสำเภาบนเวที แล่นได้เหมือนอยู่กลางมหาสมทุร และเมื่อพิเภกเดินทางมายังใกล้ฝั่งจะมีการเปลี่ยนเรือเป็นเรือสำปั้นโล้ออกมา
“อย่างไรก็ตาม ในแต่ละปี ความมุ่งหวังของคนทำงาน คือ ต้องมีการพัฒนาโขนพระราชทาน ทำให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ กว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ให้สมการรอคอยของผู้ชมที่จัดขึ้นเพียงปีละครั้ง และเพื่อความสุขของคนดูที่จะได้อิ่มเอม เต็มอารมณ์ทั้งบท ฉาก และองค์ประกอบทุกส่วนการแสดง” อาจารย์สุดสาคร กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับในปีนี้ การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถประจำปี พ.ศ.๒๕๕๙ ตอน “พิเภกสวามิภักดิ์” กำหนดจัดแสดง ระหว่างวันที่ ๕ พฤศจิกายน – ๕ ธันวาคม ๒๕๕๙ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย