ชัทดาวน์กรุงเทพ “11สิ่งควรมีติดกระเป๋าเมื่ออยู่ในที่ชุมนุม”
นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ กล่าวว่า เมื่อต้องเดินทางไปอยู่ในที่ที่มีผู้คนจำนวนมากจะต้องมีเทคนิคดูแลสุขภาพที่พิเศษต่างออกไป เพราะในท่ามกลางหมู่คนจำนวนมากนั้นเป็นเรื่องสุดวิสัยที่จะดูแลกันได้ทั่วถึง
ดังนั้นการดูแลสุขภาพที่ดีที่สุดคือ ดูแลตัวเองให้ได้ และคอยเอื้ออาทรให้กับผู้อยู่ใกล้ชิดคิดว่าคนใกล้ๆคือรูมเมทที่อยู่ร่วมตารางเมตรเดียวกัน สิ่งสำคัญที่ต้องดูแลตัวเองในท่ามกลางกระแสมวลมหาประชาชนแบ่งได้เป็น 3 ขณะที่สำคัญคือ
ขณะเดินอยู่ในกระแสชนที่เคลื่อนไปเรื่อยๆ ขณะยืนอยู่ท่ามกลางหมู่คนที่เบียดอยู่รอบตัว และ ขณะมีเหตุการณ์ฉุกเฉินหรือเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้น ทั้ง 3 ขณะนี้ล้วนแต่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ซึ่งจะขอฝากเทคนิคง่ายๆที่จะช่วยลดความเสี่ยงในทุกขณะที่ท่านอยู่ท่ามกลางมวลมหาประชาชนไว้เป็นบัญญัติติดกระเป๋า 11 ข้อดังนี้คือ
1.ติดหน้ากากอนามัย จะเป็นหน้ากากอนามัยสีเขียวๆธรรมดาหรือว่าหน้ากากกรองได้ละเอียดสุดๆอย่าง N95 ก็ได้ จะใช้ชนิดใดขึ้นอยู่กับว่าสุขภาพของท่านไวต่อการเจ็บป่วยแค่ไหน โดยส่วนใหญ่หน้ากากอนามัยแบบแผ่นกระดาษธรรมดาที่ใช้แล้วทิ้งก็พอสำหรับกรองฝุ่นและละอองควันที่อนุภาคพอสมควร ช่วยเป็นด่านหน้าป้องกันระบบทางเดินหายใจได้ทางหนึ่ง
2.เตรียมน้ำสะอาดไว้ เตรียมขวดน้ำดื่มนี่ดีที่สุด เตรียมเอาไว้เพื่อ “ดื่ม” กันอาการ “วูบช็อคแดด(Heat stroke)” และ “วูบขาดน้ำ(Dehydration syncope)” เพราะ 2 วูบนี้เกิดได้เวลาที่ท่านอยู่ในที่แออัดมากๆและร้อนจัดครับ นอกจากนั้นน้ำสะอาดยังใช้ “ล้าง” สารเคมี,สิ่งสกปรกตามที่ต่างๆเช่นที่มือทั้งสองก่อนขยี้ตาหรือว่าใช้ล้างแผลปฐมพยาบาลได้ด้วย
3.ใส่แว่นแทนคอนแทคเลนส์ โดยเฉพาะบริเวณใดที่มีฝุ่น,ควันหรือละอองสารเคมีเยอะขอให้เตรียมแว่นแบบมิดชิด ป้องกันไว้ดีกว่าใส่คอนแทคเลนส์ เพราะเมื่อมีแกสน้ำตาหรือสารเคมีใดๆเข้าตาแล้วท่านจะไม่สะดวกเลย เพราะจะต้องรีบถอดคอนแทคเลนส์ออกโดยไม่มีน้ำสะอาดและจะมองไม่เห็นถ้าไม่เตรียมแว่นสายตาไปด้วย
4.ติดผ้าเย็นไว้ในกระเป๋า แล้วเอาผ้าเช็ดหน้าไปด้วยช่วยได้เยอะ เพราะเมื่อเกิดอาการอึดอัดหายใจไม่ออกในที่ที่คนมหาศาล หรือเกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนกำเริบ ถ้าได้ดื่มน้ำชื่นใจ แล้วเอาผ้าเย็นประคบขมับไว้จะช่วยให้เส้นเลือดไม่หดเกร็งตัวเกินไปนักและกล้ามเนื้อที่อักเสบผ่อนคลาย ส่วนผ้าเช็ดหน้าเอาไว้ใช้พันตรงที่ข้อเท้าแพลงหรือข้อมือซ้นได้ครับ
5.เอาพัดด้ามจิ้วไป ไม่ใช่แค่เอาไว้พัดเย็นสบายธรรมดา แต่สำหรับ เวลาคนเราเป็นลมขึ้นมาถ้าแวดล้อมด้วยคนแน่นหนาจะทำให้ “ฟื้นช้า” จากอากาศไม่ถ่ายเท อย่างน้อยถ้ามีพัดสักอันหนึ่งแล้วมีใครอยู่แถวนั้นเราก็สามารถช่วย “เติมออกซิเจน” ให้สมองของคนเป็นลมได้ง่ายๆด้วย พอมีอากาศบ้าง ที่สำคัญให้ใส่เสื้อที่แขนยาวที่ “พับแขน” ได้ไปจะได้ใช้ป้องกันสารเคมีได้และไม่ร้อนเวลาอยู่ท่ามกลางคนเยอะครับ
6.ใส่ลูกอมติดไว้ หรือขนมเล็กๆน้อยๆที่ชอบ หรือท่านอาจหาเพื่อนที่นิยมพกขนมเล็กๆน้อยๆติดตัวไปด้วยกันก็ได้ ไม่ต้องมากเอาแค่หนึ่งซองของยาอมชุ่มคอที่มีน้ำตาลอยู่บ้าง เพราะช่วยป้องกันอาการปวดมึนศีรษะจากน้ำตาลต่ำ และทำให้มีภูมิต้านทานต่อการเป็นลมในที่ชุมชนด้วย
7.ไม่เสียบหูฟัง ข้อนี้สำคัญมาก เพราะการอยู่ในที่ชุมชนคนเยอะมากหากเกิดเรื่องไม่คาดคิดขึ้นมา เช่นไฟไหม้หรือมีเหตุวุ่นวายท่านจะเป็น “คนสุดท้าย” ที่ได้ยิน เพราะหูฟังรุ่นใหม่ยิ่งแบบ “อินเอียร์” จะทำให้ท่านอยู่ในโลกส่วนตัวสูง จนบางครั้งเสียงรถที่เข้ามาใกล้ก็อาจไม่ได้ยินตอนข้ามถนน ซึ่งการอยู่ในที่ชุมชนจะต้องใช้ประสาทสัมผัสรอบด้านและต้อง “หูไวตาไว”
8.ระวังด้วยรองเท้า การอยู่ในที่คนเยอะมหาศาลหรือการเดินไปตามถนนที่มีฝูงชนมากจำเป็นจะต้องระวังอุบัติเหตุจาก “ถูกเหยียบเท้า” ครับ ทั้งเท้าเราและเท้าเขาด้วยต้องช่วยๆกันระวัง ขอให้ใส่รองเท้าที่ปิดหน้าเท้ามิดชิดเพราะการเหยียบกันแรงนั้นถึงขั้นเล็บหลุดและกระดูกหักได้ในที่คับขันครับ โดยรองเท้านั้นแม้จะต้องมิดชิดจริงแต่ไม่ควรเป็นส้นสูงหรือบู้ทนะครับเพราะจะทำให้ล้มแล้วเสี่ยง “เจ็บหนัก” ถึงขั้นดามกระดูกกันทีเดียว
9.เอายาประจำตัวใส่ตลับชั่วคราว เวลาออกไปข้างนอกหรืออยู่ในที่ที่ไม่สามารถเดินไปไหนต่อไหนได้อย่างสะดวกตัว ขอให้ติดยาประจำตัวไปด้วย แต่…เอาไปพอแก้ขัดนะครับ ไม่ต้องขนมาหมดร่วมยาไซส์ครอบครัวแล้วเปิดหนังกลางแปลง ขอติดมาสักมื้อหรือสองมื้อใส่ตลับเล็กมาเป็นพอ เพราะจะได้ไม่ลำบากเวลาฉุกเฉินหรือไม่สะดวกที่จะหารถกลับบ้านไปกินยาประจำ
10.การ์ดบอกชื่อยาและโรคประจำตัวติดกระเป๋า ที่สำคัญคือเบอร์โทรศัพท์ด้วย ติดเอาไว้เป็นของที่ขาดไม่ได้ เพราะในเวลาที่คนเยอะวุ่นวายนั้นอาจไม่มีโอกาสได้คุยกัน แต่ถ้ามีรายละเอียดสำคัญให้อ่านได้แค่ควักออกมาก็จะช่วยท่านได้มาก ถึงขั้นช่วยชีวิตได้เลยโดยเฉพาะกับท่านที่มีโรคประจำตัวสำคัญ ขอให้ทำรายละเอียดไว้พอสังเขปในการ์ดใบเล็กเท่านามบัตรก็ได้ครับ
11.แยกธนบัตรย่อย หรือเศษสตางค์ แล้วแบ่งโซนนิ่งให้แบงค์ใหญ่กับบัตรสำคัญๆใส่ไว้อีกกระเป๋าต่างหาก เอาธนบัตรย่อยกับเหรียญที่จะหยิบใช้ได้ง่ายนั้นใส่ไว้ในที่ที่หยิบได้สะดวกที่สุดครับ ช่วยให้ท่าน “ลดเสี่ยง” ในการเปิดกระเป๋าใหญ่แล้วเป็นเป้าสายตาของใครต่อใครขณะที่ท่านบรรจงเลือกแบงค์เล็กที่สุดมาซื้อฝรั่งดองฝากเพื่อน การเหน็บเศษสตางค์แยกไว้ในที่ที่ใช้ได้เลยจะทำให้ท่านสะดวกและคล่องตัวมากกว่าในเวลาคับขันด้วย
โดย www.dodeden.com
ขอบคุณภาพประกอบ คุณเล็ก ฝันเด่น