จนท.สวนพฤษศาสตร์ จ.ขอนแก่น พบค้างคาวขนาดเล็กหายากใกล้สูญพันธุ์ สีสันสวยงามคล้ายผีเสื้อ ชาวบ้านเผยพบครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปี
นายพงศ์เลิศ ศิริบูรณ์ พนักงานวิชาการประจำสวนพฤษศาสตร์ อ.พล จ.ขอนแก่น ได้แจ้งให้ผู้สื่อข่าวเดินทางไปดูค้างค้าวที่มีตัวขนาดเล็ก มีสีสันความสวยงามคล้ายผีเสื้อ บินเข้ามาในบ้านพักของเจ้าหน้าที่ที่บ้านหัวภู ต.หัวทุ่ง อ.อพล จ.ขอนแก่น ขณะที่ตนเองและเจ้าหน้าที่กำลังทานข้าวเย็นเมื่อค่ำวานนี้ (12 ม.ค. 59) โดยครั้งแรกที่ตนพบเห็นนึกว่าเป็นผีเสื้อจึงไม่สนใจ แต่เห็นบินวนเวียนไปอยู่หลายรอบ จึงลุกขึ้นไปดูใกล้ใกล้ จึงแปลกใจเพราะไม่ใช่ผีเสื้อ เมื่อจับได้จึงตรวจดูให้ละเอียดจึงทราบว่าเป็นค้างคาวที่มีตัวเล็กมาก แต่ที่น่าสนใจคือมีสีเหลืองทองสะท้อนแสง เมื่ออยู่ใกล้แสงไฟฟ้า ซึ่งค้างคาวตัวนี้มีขนาดจากปลายปีกด้านซ้ายถึงปีกด้านขวา 26 ซม. หัวถึงเท้า 6 ซม. เพศผู้
จากการสอบถามชาวบ้านในพื้นที่ บอกว่าเป็น “ค้างคาวยอดกล้วยปีกผีเสื้อ” เพราะชอบอาศัยอยู่ในยอดของต้นกล้วย แต่ว่าจะไม่เคยพบเห็นบ่อยนัก ซึ่งคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านบอกว่าเคยเห็นตั้งแต่สมัยกว่า 10 ปีที่แล้ว ด้วยความอยากรู้จึงหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต จึงทราบว่า เป็นค้างคาวชนิดหนึ่ง ชื่อว่า ค้างคาวยอดกล้วยปีกผีเสื้อ ที่กำลังใกล้จะสูญพันธุ์ และเป็นสัตว์ป่าสวงน ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ค้างคาวชนิดนี้ชอบอยู่โดดเดี่ยว ไม่ชอบอยู่เป็นฝูง จะจับคู่ผสมพันธุ์ในเดือนมิถุนายน และจะออกลูกในช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปี
อย่างไรก็ตามนายพงศ์เลิศ อยากให้ทางหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องการดูแลของสัตว์ป่าสงวนได้เข้ามาตรวจสอบ เพราะเป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เพื่อจะได้นำไปวิเคราะห์ วิจัยต่อยอดว่า การที่พบสัตว์ชนิดนี้ จะเป็นการบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ หรือความสภาพแวดล้อมทางภูมิอากาศดีหรือไม่