ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก่อให้เกิดกังหันลมที่ทันสมัยที่มีอุปกรณ์ทำงานร่วมกันได้และติดตั้งได้รวดเร็ว ล่าสุดทางศูนย์การจัดการพลังงานและเทคโนโลยีแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ บริษัท Advanced Marine Energy จำกัด บริษัทชั้นนำด้านการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากกระแสน้ำจากออสเตรเลีย
ได้จัดงานสัมมนาในหัวข้อ “ความมั่นคงทางพลังงานกับแนวโน้มของโรงไฟฟ้าของโลก” ขึ้น ณ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ในงานนี้ได้รับเกียรต์จาก มร. เครก แชมเบอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท AECOM จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกที่ให้บริการด้านโครงสร้างสาธารณูปโภค รวมถึงโครงสร้างด้านพลังงานในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก
มร. เครก กล่าวว่า ปัจจุบันนี้แต่ละประเทศจะต้องมีการกำหนดนโยบายที่ดีและต้องมีความต่อเนื่องของนโยบายด้านพลังงาน การเลือกใช้แหล่งพลังงานของแต่ละประเทศส่วนใหญ่จะเน้นพิจารณาทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อเป็นการลดต้นทุนของพลังงานก่อน การนำเข้าพลังงานจากแหล่งอื่นจะต้องคำนึงถึงต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น
“ดังนั้นรัฐบาลควรจะแยกแยะระหว่างนโยบายด้านการสร้างความมั่นคงพลังงาน ออกจากนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งในตัวนโยบายมีความขัดแย้งกันในเรื่องผลประโยชน์ เพราะนโยบายด้านความมั่นคงทางพลังงานจะมุ่งเน้นการผลิตพลังงานที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ”
อย่างไรก็ดี หากประเทศเลือกที่จะเน้นด้านการพัฒนาทางเศรษฐกิจ นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมอาจต้องถูกให้ความสำคัญน้อยลง แหล่งพลังงานสะอาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานของสิ่งแวดล้อมที่มั่นคง
แต่ส่วนใหญ่จะได้ผลในประเทศที่พัฒนาแล้วหรือมีรายได้สูงเนื่องจากในปัจจุบันราคาพลังงานจากแหล่งดังกล่าวยังสูงอยู่
ด้าน ดร. ไมเคิล วอร์เตอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม และอดีตที่ปรึกษาของคณะกรรมาธิการลุ่มน้ำโขง กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยมีปริมาณการไหลของแม่น้ำในประเทศรวมกันถึง 8 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร และมีแม่น้ำนานาชาติทั้งหมด 3 สาย
ได้แก่ แม่น้ำแม่โขง สาละวิน และโกลก รวมแล้วมีปริมาณการไหลของแม่น้ำในประเทศและแม่น้ำนานาชาติรวมกันทั้งสิ้นกว่า 13 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งทำให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านทรัพยากรน้ำที่สามารถแปรรูปมาเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญในการผลิตพลังงานไฟฟ้าได้
โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีจำนวนประชากรไม่หนาแน่นมากนัก ประกอบกับการเข้าถึงแหล่งพลังงานจำเป็นต้องใช้การเดินสายส่งเป็นระยะทางไกล
ดังนั้นทำให้มีปัญหาด้านการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าในบางพื้นที่ ความต้องการด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้นตามอัตราความเจริญของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงทำให้เห็นว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการผลิตพลังงานเพิ่มเติมจากแหล่งพลังงานน้ำ
“น้ำเป็นทรัพยากรที่หากพิจารณาดูแล้วเราสามารถทำประโยชน์จากน้ำได้อีกอย่างมหาศาล ประกอบกับเทคโนโลยีกังหันน้ำสมัยใหม่ในปัจจุบันย่อมเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถทำให้ประเทศไทยสามารถผลิตพลังงานเพิ่มเติมได้อีกมหาศาล”