‘โยโกฮาม่า’ เมืองท่าระหว่างประเทศชั้นนำของญี่ปุ่นที่ผสมผสานเอกลักษณ์ทางด้านวัฒนธรรม พื้นที่พาณิชยกรรมตั้งแต่วันแรกที่เปิดต้อนรับการเดินเรือจากนานาชาติในปี ค.ศ.1859 จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าจุดเริ่มต้นของความทันสมัยสไตล์ Modernization เริ่มต้นที่เมืองโยโกฮาม่าแห่งนี้
เพื่อไม่ให้มรดกทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่น ความสวยงามของเมืองท่า สายน้ำและธรรมชาติถูกกลืนไปกับความเจริญที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งจากภาครัฐและเอกชนจึงได้กำหนดแนวทางการพัฒนาของเมืองโยโกฮาม่าผ่านโครงการ Minato Miral 21 (MM 21)
หัวใจหลักของการพัฒนาผังเมืองภายใต้โครงการ MM 21 มุ่งหวังให้พื้นที่บริเวณท่าเรือมีความสวยงามโดยให้ความสำคัญกับพื้นที่สาธารณะพร้อมเพิ่มศักยภาพในเชิงพาณิชย์ ยกตัวอย่างเช่น
1) การควบคุมความสูงของอาคารบริเวณพื้นที่ริมน้ำ การคำนึงถึงความต่อเนื่องระหว่างอาคาร รูปทรงของงานสถาปัตยกรรมและการเลือกใช้สี รวมถึงการติดตั้งป้ายโฆษณาเพื่อให้เกิดทัศนียภาพที่สวยงามพร้อมดึงดูดนักลงทุนและนักท่องเที่ยว
2) การออกแบบโครงช่ายพื้นที่สาธารณะและทางเดินเท้า โดยใช้พื้นที่บริเวณชั้น 1 ของอาคารเชื่อมต่อกับพื้นที่สาธารณะโดยรอบเพื่อสร้างความปลอดภัยและเพิ่มชีวิตชีวาให้กับพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง
3) ส่งเสริมอนุรักษ์อาคารประวัติศาสตร์ เช่น โกดังที่ก่อสร้างจากอิฐแดงอันมีเอกลักษณ์ของอาคาร Aka-Renga Soko พร้อมให้ความสำคัญกับพื้นที่โดยรอบเพื่อตอกย้ำมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน
4) เพิ่มเสน่ห์บนพื้นที่ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว
5) สร้างสมดุลระหว่างผู้คนที่อาศัยในพื้นที่และธรรมชาติเข้าไว้ด้วยกัน
นอกจากนี้โครงการ MM 21 ยังวางแผนให้เมืองโยโกฮาม่าเป็นเมืองตัวอย่างแห่งอนาคตที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและรองรับสังคมผู้สูงอายุ พร้อมวางแผนที่จะให้เมืองแห่งนี้เป็นเมืองแห่งวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ และเทคโนโลยีทางชีวภาพในอนาคตด้วยเช่นกัน ความสำเร็จของโครงการ MM21 ได้รับการยอมรับจากนักลงทุนรวมไปถึงนักออกแบบเชิงกายภาพว่าเป็นหนึ่งในโครงการพื้นฟูบูรณะเมืองที่ประสบความสำเร็จสูงสุดแห่งหนึ่งของโลก เห็นแบบนี้แล้วทำให้คิดถึงโอกาสในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันอย่างมีเอกลักษณ์กับพื้นที่บริเวณท่าเรือคลองเตยหรือท่าเรือแหลมฉบังของบ้านเราทันที