รศ.พญ.วัฒนา สุขีไพศาลเจริญ อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า จากการที่พบว่าคนภาคอีสานป่วยเป็นโรคไวรัสตับอักเสบจำนวนมาก คิดเป็น 10-15 % ของจำนวนคนอีสานในพื้นที่ทั้งหมด แบ่งเป็น โรคไวรัสตับอักเสบชนิดบี 10% โรคไวรัสตับอับเสบชนิดซี 5%

11

 

ซึ่งโรคไวรัสตับอักเสบนี้ หากไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยจะกลายเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง กลายเป็นโรคแข็งตับ และโรคมะเร็งตับ ในที่สุด ประมาณการได้ว่าคนภาคอีสาน 22 ล้านคน เป็นโรคไวรัสตับอักเสบ 3 แสนคน และกลายโรคตับอักเสบเรื้อรังจนเสียชีวิต ไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นคนต่อปี

นอกจากนี้โรคตับอักเสบเรื้อรัง ยังสามารถเกิดจากผู้ป่วยที่เป็นโรคตับอักเสบ จากสาเหตุอื่นนอกจากการติดเชื้อไวรัส เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การได้รับสารพิษ ความอ้วน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เล็งเห็นความสำคัญด้านสุขภาพของคนอีสาน จึงเกิดโครงการนี้ขึ้น เพื่อรณรงค์ให้ความรู้คนอีสาน ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และหันมาดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้น ช่วยลดอัตราการติดเชื้อและลดอัตราการอักเสบในผู้ป่วยโรคตับอักเสบได้

โรคไวรัสตับอักเสบ มีทั้งหมด 5 ชนิด คือ ไวรัสตับอักเสบเอ ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี ไวรัสตับอักเสบดี และไวรัสตับอักเสบอี แต่ชนิดที่ก่อให้เกิดไวรัสตับตับเรื้อรังก็คือ ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี และไวรัสตับอักเสบดี โดยที่ ไวรัสตับอักเสบดี ไม่พบเจอในประเทศไทย ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องรณรงค์ โรคไวรัสตับอักเสบบี และโรคไวรัสตับอักเสบซี แบบบูรณาการเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เป็นโรคไวรัสตับ อักเสบบี คือ การติดต่อจากแม่สู่ลูก โดยผู้ป่วยไม่รู้ตัวเองจึงไม่ได้รับการรักษา จึงทำให้โรคแพร่กระจายภายในเครือญาติ นอกจากการติดต่อจากแม่สู่ลูกแล้ว ยังสามารถติดต่อกันทางเลือด น้ำคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ และการมีเพศสัมพันธ์ ทั้งนี้ แพทย์เผยโรคไวรัสตับอักเสบบี อันตรายกว่าเอดส์ 100 เท่า

ส่วนโรคไวรัสตับอักเสบซี ปัจจุบันพบว่าสาเหตุสำคัญคือ การติดเชื้อทางเข็ม โดยการสักลวดลายบนผิวหนังและการฉีดยา เมื่อผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบแล้ว ผู้ป่วยจะไม่แสดงอาการอะไร จนถึงระยะสุดท้าย ผู้ป่วยอาจเกิดอาการตับวายและเสียชีวิตได้

ส่วนวิธีป้องกันและดูแลรักษา ควรตรวจเช็กหากมีปัจจัยเสี่ยง เช่น ภายในเครือญาติพบผู้ป่วยโรคตับอักเสบหรือมะเร็งตับ เคยเป็นโรคตัวเหลืองตาเหลือง หรือ บุคลากรในโรงพยาบาล รวมไปถึง นักศึกษาพยาบาล แพทย์ สาธารณสุข ที่มีโอกาสปนเปื้อนเลือด

หรือแม้กระทั่งการเข้ารับบริการทำฟัน เครื่องมืออาจไม่สะอาด จากนั้นฉีดวัคซีนป้องกันเมื่อพบว่ามีปัจจัยเสี่ยงสูง และควรหมั่นดูแลสุขภาพร่างกาย งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงสารเคมีและสารพิษต่างๆ ควบคุมน้ำหนัก กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ

ที่มา ไทยรัฐ

เรื่องน่าสนใจ