ที่มา: dodeden

ผู้สื่อข่าว โดดเด่นดอทคอม รายงานว่า  วันนี้  ( 9  มี.ค. ) นายแพทย์โสภณ  เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วันพฤหัสบดี ที่ 2 ของเดือนมีนาคมของทุกปีเป็นวันไตโลก ซึ่งปี 2560 นี้ มีการรณรงค์ภายใต้คำขวัญ “อ้วนกลมระทมไต” เน้นรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงโรคไต และลดการบริโภคเค็มครึ่งหนึ่ง

เพราะการบริโภคเค็ม นอกจากทำให้เป็นโรคไตแล้วยังทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง นำไปสู่โรคหัวใจ และโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ปัจจุบันไทยมีผู้ป่วยไตเรื้อรังประมาณ 8 ล้านคน มีผู้ป่วยรายใหม่ปีละประมาณ 1 หมื่นคน แนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ในจำนวนนี้ป่วยระยะสุดท้ายกว่า 70,000 คน ต้องฟอกเลือดหรือล้างไตทางช่องท้อง สร้างความทุกข์ทรมานให้ผู้ป่วย และใช้งบประมาณรัฐดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้กว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี

ที่น่ากังวลคือผู้ป่วยตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคไตน้อยมาก โดยมีผู้ป่วยไตวาย ระยะที่ 1-4 รู้ว่าตนเป็นโรคไตน้อยกว่าร้อยละ 25 ทำให้เสียโอกาสที่จะได้รับการรักษาตั้งแต่ในระยะแรก ที่ให้ผลการรักษาที่ดีกว่าหรือสามารถหายขาดได้

กระทรวงสาธารณสุข ได้รณรงค์คัดกรองประชาชนกลุ่มเสี่ยงต่อโรคไต ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โดยการตรวจเลือดและโปรตีนในปัสสาวะ เพื่อประเมินความสามารถในการทำงานของไต วินิจฉัยโรคให้ได้ตั้งแต่ระยะแรก จัดระบบการรักษาในโรงพยาบาลให้เหมาะสมกับระยะการเจ็บป่วย ด้วยทีมสหวิชาชีพ            

และติดตามดูแลรักษาผู้ป่วยลงไปในชุมชนด้วยทีมหมอครอบครัว เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยที่จะเข้าสู่โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย “รู้เร็ว รักษาเร็ว” โดยเปิดบริการคลินิกชะลอไตเสื่อมในโรงพยาบาลที่มีขนาดใหญ่กว่า 30 เตียงขึ้นไปทุกแห่ง ตั้งเป้าขยายบริการไปในโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็กอย่างน้อยร้อยละ 50 ในปี 2560

นายแพทย์โสภณ  กล่าวต่อว่า สำหรับการดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย มีทางเลือกในการบำบัดทดแทนไตที่เหมาะสมตามสิทธิของผู้ป่วย ทั้งการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม การล้างไตทางช่องท้อง และการปลูกถ่ายไต ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขมีศูนย์ไตเทียมและศูนย์ล้างไตทางช่องท้องในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป  และมีเครือข่ายการล้างไตช่องท้องในโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้สะดวกขึ้น  มีการกำกับดูแลคุณภาพบริการ จากสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม และกรมบัญชีกลาง พร้อมเตรียมพัฒนาระบบการดูแลแบบประคับประคองสำหรับผู้ที่ไม่เหมาะสมหรือปฏิเสธการรักษาด้วยการบำบัดทดแทนไต เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีในช่วงสุดท้ายของชีวิต

นอกจากนี้  ได้ขยายบริการปลูกถ่ายไตทั้ง 13 เขตทั่วประเทศ ร่วมกับการส่งเสริมให้มีการบริจาคอวัยวะมากขึ้นทั้งจากผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากภาวะสมองตาย และจากคนปกติที่เป็นญาติ

โดยการจัดตั้งศูนย์รับบริจาคอวัยวะและดวงตาขึ้นในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่ง และร่วมมือกับสภากาชาดไทยจัดกิจกรรมรณรงค์รับบริจาคอวัยวะและดวงตา “ทำดีที่สุดถวายเป็นพระราชกุศล” แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ โดยมีเป้าหมายให้ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายสามารถเข้าถึงการปลูกถ่ายไตได้เป็น 3 เท่าของปัจจุบันภายใน 5 ปีข้างหน้า

เรื่องน่าสนใจ