กลายเป็นประเด็นร้อนของสังคมที่อาชญากรรมและความยุติธรรมยังไม่อาจหาสมดุลที่สังคมยอมรับได้ กับกรณีคลิปตำรวจเตะผู้ต้องหาคดีเมาแล้วขับนำไปสู่คำสั่งถูกให้ออกจากราชการโดยพลัน สิ่งนี้กลายเป็นชนวนให้เกิดกระแสคัดค้านคำสั่งดังกล่าว กลายเป็นคำถามสำคัญที่สังคมต้องเลือกว่า บทลงโทษแบบไหนจะเหมาะกับผู้กระทำผิดในสังคมไทย

557000010251702

 

    กระแสของโลกออนไลน์เป็นสิ่งที่แพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็ว ยิ่งกับคลิปวิดีโอที่มีดรามาให้เกิดความขัดแย้งเห็นต่างวิพากษ์ถกเถียง ยิ่งส่งผลให้การถกเถียงเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ขับเคลื่อนให้ประเด็นดังกล่าวเป็นข่าวแรงขึ้น กับคลิป ตำรวจเตะผู้ต้องหาคดีเมาแล้วขับก็เช่นกัน

หลังจากมีการจับกุมผู้ต้องหาให้อยู่ในสภาพถูกจับใส่กุญแจมือคนไม่สามารถหนีไปไหนได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งก็เดินตรงเข้ามาเตะคนร้ายเข้าอย่างจัง กลายเป็นที่วิจารณ์รุนแรงกับท่าทีก้าวร้าวดังกล่าวซึ่งไม่ควรจะเกิดขึ้นกับผู้รักษากฎหมายเสียเอง

ด.ต.ภรเดช เดชโชติ สภ.เมืองนครสวรรค์ คือผู้ที่อยู่ในคลิปดังกล่าว ผู้บังคับบัญชามีคำสั่งให้เขาออกจากราชการแล้ว โดยเขา กล่าวว่า “ผมยอมรับผิดและขอโทษในสิ่งที่ผมได้ทำลงไป ผู้ต้องหาขับรถฝ่าไฟแดงพุ่งชนคนบริสุทธิ์บนท้องถนน มีเด็กนักเรียนบาดเจ็บถึง 3 คน และยังขัดขืนต่อสู้ เป่าแอลกอฮอล์พบสูงถึง 193 มก. ผมเพียงไม่อยากเห็นเหตุการณ์นี้ต้องมาเกิดขึ้นกับเด็กๆ”

ถือเป็นหนึ่งในหลายกรณีที่มีเกิดขึ้นในสังคมไทยกับการที่ตำรวจลงมือทำร้ายผู้ต้องหา นำมาซึ่งข้อวิพากษ์เรื่องความยุติธรรมไทย

ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว พ่อแม่ของเด็กนักเรียนที่บาดเจ็บได้ออกมาตัดพ้อว่า ไกรสิทธิ์ วรเชษฐ์ ผู้ต้องหาได้ถูกประกันตัวไปแล้ว และไม่เคยมาขอโทษหรือมาเยี่ยมอาการน้องเลย มีแต่ตำรวจชุดจับกุมและตำรวจที่เตะคนเมา มาเยี่ยมและให้กำลังใจ

 

ทั้งนี้ หลังจากมีคำสั่งให้ออกจากราชการกับเจ้าหน้าที่ตำรวจดังกล่าว ทางเพจ Thailand police story ก็มีการโพสต์ภาพที่มีข้อความว่า “คัดค้านคำสั่งให้ ด.ต.ภรเดช เดชโชติ ออกจากราชการ” พร้อมข้อความแสดงความเห็นบางส่วนว่า

“ในฐานะเพื่อนข้าราชการตำรวจด้วยกัน หลายคนก็เห็นว่าคำสั่งให้ออกจากราชการถือว่ารุนแรงเกินไป ถ้าตกงานแล้วครอบครัวจะอยู่อย่างไร อยากให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาทบทวนใหม่ ใครเห็นด้วยช่วยกันกดไลค์ ลงชื่อเป็นกำลังใจให้ ด.ต.ภรเดช เดชโชติ ด้วยครับ”

แน่นอนว่ามีผู้เข้าแสดงความเห็นกันมากมาย โดยหลายคนเข้ามาให้กำลังใจตำรวจคนดังกล่าวพร้อมทั้งตัดพ้อผู้ที่เห็นต่างว่า หากเหยื่อเป็นลูกหลานของคนเหล่านั้นก็คงทนกับคนร้ายไม่ได้เช่นกัน ประเด็นดังกล่าวกลายเป็นหัวข้อถกเถียงได้ไม่จบสิ้น

คำถามมากมายผุดขึ้นจากประเด็นตำรวจเตะผู้ต้องหา ตั้งแต่ความยุติธรรมคืออะไร? ตำรวจทำร้ายคนร้ายได้หรือไม่? ควรอนุญาตให้ทำร้ายเพื่อสั่งสอนเป็นบทเรียนได้จริงหรือ? หรือควรเชื่อในกฎหมายแล้วปล่อยให้บทลงโทษเป็นไปตามที่ระบุไว้ในตัวอักษร แม้จะสิ้นหวังเพียงใดก็ตาม

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ประธานบริหารหลักสูตรอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต เผยว่าต้องแยกกรณีนี้ให้ออก ความผิดฐานเมาแล้วขับก็ต้องลงโทษไปตามกระบวนการทางกฎหมาย ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายผู้ต้องหาก็ถือเป็นความผิดที่ต้องดำเนินคดีเช่นกัน ต้องแยกขาดจากกัน

“ตำรวจมีหน้าที่พิทักษ์สันติราษฎร์ เป็นผู้รักษากฎหมาย จะละเมิดกฎหมายเสียเองไม่ได้ ตำรวจในยุคใหม่ยุคประชาธิปไตยนั้นจะเน้นหลักๆ อยู่ไม่กี่อย่าง ความเป็นมืออาชีพในปฏิบัติหน้าที่ หลักมนุษยชนที่ไม่สามารถละเมิดได้ การจับกุมผู้คนร้าย แม้เขาจะเป็นคนร้ายจริงๆ แต่ก็ยังมีสิทธิความเป็นมนุษย์ที่ตำรวจไม่สามารถไปละเมิดเขาได้”

ในส่วนของบทลงโทษที่ให้ออกจากราชการนั้น เขาเผยว่า เป็นบทลงโทษขั้นต้นเพื่อสืบสวนหาข้อเท็จจริงของสิ่งที่เกิดขึ้นก่อน ทว่าหลักฐานจากคลิปวิดีโอก็ดูจะเป็นหลักฐานที่มัดตัวเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวไว้อย่างแน่นหนาแล้ว

สิ่งตามมาคงจะเป็นบทลงโทษที่ต้องว่ากันไปตามกฎหมาย ทำร้ายร่างกายที่มีอัตราโทษเป็นไปตามความเสียหายที่เกิดขึ้น ส่วนหลังจากนั้นเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวจะลงกลับมาเข้ารับราชการได้อีกหรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้บังคับบัญชา

“กระแสสังคมที่มองว่า คัดค้านคำสั่งถอดถอนตำรวจคนดังกล่าว ด้านหนึ่งก็สะท้อนถึงความสิ้นหวังในกระบวนการยุติธรรมไทย การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เด็ดขาด แต่อีกด้านหนึ่งการทำแบบนี้ไม่ถูกต้อง มันเท่ากับเป็นการเห็นด้วยว่าเจ้าหน้าที่คนนั้นทำถูกต้องแล้ว ซึ่งตำรวจไม่ควรลุแก่อำนาจ จับผู้ต้องหาได้แล้วยังใช้กำลังทำร้ายอีก แบบนี้ไม่ถูกต้อง”

ประโยคเด็ดที่หลายคนพูดกันคือ คนที่ออกมาพูดไม่เห็นด้วยกับการกระทำของตำรวจก็เพราะเหยื่อไม่ได้เป็นลูกหลานของตนเองมากกว่า เขาเผยว่า การที่สังคมมองว่าควรเปิดโอกาสให้มีการทำแบบนี้มาจากความสะใจเท่านั้น ไม่เป็นไปตามกฎหมายที่มีอยู่

“กฎหมายไม่ได้มีระบุให้ทำได้ดังนั้นมันจึงทำไม่ได้ การทำเพื่อความสะใจไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง ในยุคดึกดำบรรพ์เราไม่มีกฎหมายมันก็มีการล้างแค้นกันเกิดขึ้น แต่ตอนนี้เรามีกฎหมายแล้ว ถ้ายังให้มีการล้างแค้นกันอีกมันก็ไม่จบไม่สิ้น สุดท้ายแล้วคนร้ายก็มีญาติของเขามีพ่อมีแม่ของเขาเหมือนกัน เราต้องบังคับให้กฎหมายให้เด็ดขาดเพื่อแก้ไขปัญหามากกว่า”

 

ที่มา http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9570000132673

 

 

เรื่องน่าสนใจ