ที่มา: dodeden

ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่า วันนี้ ( 9 สิงหาคม 2560 )  นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการฟื้นฟูดูแลผู้ประสบภัยน้ำท่วมจากพายุเซินกาว่า  กรมสุขภาพจิตได้ส่งทีมจิตแพทย์เอ็มแคทจากรพ.จิตเวชต่างๆและศูนย์สุขภาพจิตร่วมปฏิบัติการฟื้นฟูจิตใจผู้ประสบภัยร่วมกับทีมเอ็มแคทจากโรงพยาบาลต่างๆในพื้นที่ประสบภัยทุกจังหวัดภายหลังน้ำลดอย่างต่อเนื่อง  

ซึ่งรายงานของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ล่าสุดในวันนี้ มีพื้นที่น้ำท่วม  44 จังหวัด คลี่คลายแล้ว 35 จังหวัดและยังมีสถานการณ์ 9 จังหวัด   โดยได้เร่งดำเนินการตรวจคัดกรองค้นหาผู้ที่มีความเครียดผิดปกติให้ได้เร็วที่สุดภายใน 1-2 สัปดาห์หลังน้ำลด

เพื่อเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดให้หายขาด  ป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพจิตระยะยาว  โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า ( Depression)  ซึ่งจะนำมาสู่ปัญหาการฆ่าตัวตาย (Suicide) ซึ่งมีโอกาสสูงกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่าตัว

ทั้งนี้ในส่วนของจังหวัดสกลนคร ผลการตรวจคัดกรองหาผู้ที่มีความเครียดจากน้ำท่วมในพื้นที่ 18 ตำบลใน 8 อำเภอ เช่น อ.เมือง กุสุมาลย์ โพนนาแก้ว  ในรอบวันที่ 7-8 สิงหาคม 2560 ซึ่งดำเนินการได้ครอบคลุมพื้นที่ประสบภัยที่ได้รับผลกระทบรุนแรงไปแล้วประมาณร้อยละ 70   ได้ตรวจคัดกรองแล้ว 1,079 คน

พบผู้ที่มีความเครียดในระดับปานกลางขึ้นไปเช่นมีอาการปวดศีรษะ นอนไม่หลับ กินไม่ได้ รวมทั้งหมด 104 คน ในจำนวนนี้พบผู้ที่เครียดรุนแรงมีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าจำนวน 69 คน และมีความเสี่ยงฆ่าตัวตายรวม 10 คน ทั้งหมดนี้จิตแพทย์ได้ให้การรักษาเช่นให้กินยาคลายเครียดและอยู่ในความดูแลเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดของทีมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขรวมทั้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน อาสาสมัครประจำครอบครัวรวมทั้งครอบครัว และชุมชนด้วยในช่วง 2 สัปดาห์ถึง 1 เดือน   

ทางด้าน นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ จ.นครพนม กล่าวว่า   จากการประเมินของทีมเอ็มแคทที่เข้าเยี่ยมบ้านผู้ประสบภัยทั่วไป พบว่าประชาชนมีขวัญกำลังใจดีขึ้นเรื่อยๆ  สะท้อนถึงระบบคุณภาพการทำงานจากทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในช่วง 72 ชั่วโมงแรก ซึ่งเป็นภาวะวิกฤติฉุกเฉินเร่งด่วนในการเอาชีวิตรอดปลอดภัย ทำให้ผู้ประสบภัยเกิดความมั่นใจเนื่องจากได้รับการดูแลช่วยเหลือเป็นอย่างดี

“อย่างไรก็ดีการเกิดภาวะซึมเศร้าหลังน้ำท่วมนี้ เป็นเรื่องที่ประชาชนทุกคนต้องช่วยกันเฝ้าระวังบุคคลในครอบครัวหรือบุคคลที่รู้จัก  โดยเฉพาะในรายที่สูญเสียบุคคลในครอบครัว สูญเสียของรักหรือทรัพย์สินเสียหายซึ่งบางคนมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว ผลกระทบทางจิตใจอาจเกิดรุนแรงกว่าคนอื่นๆ  จะสังเกตผู้ที่มีอาการได้ดังนี้คือ มีอารมณ์เศร้าหมอง ร้องไห้ง่าย เบื่อหน่ายกิจกรรมที่เคยชอบทำ นั่งเหม่อ ใจลอย

โดย ผู้ที่มีอาการซึมเศร้ามักบอกว่าไม่มีแรงทำงาน ปวดหัวบ่อย ใจสั่น ท้องอืด จุกเสียด  บ่นอยากตาย  หากพบให้รีบพาไปพบแพทย์หรือแจ้ง อสม.เจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน  เพื่อให้ได้รับการรักษา  อย่าปล่อยให้ผู้ที่มีอาการซึมเศร้าอยู่คนเดียวอย่างเด็ดขาด” นายแพทย์กิตต์กวีกล่าว

นายแพทย์กิตต์กวีกล่าวอีกว่า  สำหรับการฟื้นฟูจิตใจประชาชนในพื้นที่ประสบภัยในวันนี้ ที่จ.นครพนม มี 8 ทีมจากรพ.จิตเวชนครพนมฯ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม รพ.นครพนม  รพ.สมเด็จพระยุพราชธาตุพนม รพ.เรณูนคร รพ.ปลาปาก รพ.วังยางและรพ.นาแก ดำเนินการที่ บ้านปากบัง ตำบลพิมาน อ.นาแก   

ส่วนที่สกลนครมี 4 ทีม ดำเนินการที่อ.พรรณานิคม ที่บ้านนาตากา บ้านท่าสองคอน บ้านหนองทุ่ม และบ้านหนองอ้อ อ.วานรนิวาสที่บ้าน ขัวก่าย ต.ขัวก่าย  อ.เมืองที่บ้านกกยาง ต.เหล่าปอแดง บ้านบึงแดง ต.โคกก่อง ซึ่งมีกิจกรรม 2 ส่วน คือการตรวจคัดกรองค้นหาผู้ที่มีความเครียด และการเสริมสร้างพลังใจ ในการดูแลตนเอง ฟื้นฟูครอบครัวและชุมชนหลังน้ำท่วมให้กลับคืนสู่สภาวะปกติอย่างปลอดภัย  

ศูนย์สุขภาพจิตที่ 8 จ.อุดรธานี นำทีมโดย จุฑามาศ วรรณศิลป์ ผ.อ. ศูนย์สุขภาพจิตที่ 8  ร่วมปฏิบัติการและสนับสนุนวิชาการให้แก่ทีมช่วยเหลือเยียวยาทางจิตใจหรือทีมเอ็มแค็ทเครือข่าย ( Mental health Crisis Assessment and Treatment Team : MCATT ) ในเขตสุขภาพที่ 8

เรื่องน่าสนใจ