นักวิชาการ ย้ำฟอร์มาลีนเป็นสารสำหรับฆ่าเชื้อโรคในการเลี้ยงสัตว์น้ำ และต้องใช้ในปริมาณที่เหมาะสม ชี้ไม่สามารถฉีดเข้าไปในตัวปลาได้เพราะจะทำให้อวัยวะภายในเสียหาย เตือนอย่างหลงเชื่อและหยุดส่งต่อข้อมูลที่คลาดเคลื่อนกระทบต่อผู้เลี้ยงปลาและผู้บริโภค
ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ รองอธิบดีกรมประมง อธิบายข้อเท็จจริงว่า ในวงการเลี้ยงสัตว์น้ำทุกชนิด ทั้งในบ่อดิน อ่างซีเมนต์ หรือกระชังในแม่น้ำ ล้วนมีโอกาสเกิดการติดเชื้อปรสิตชนิดต่างๆ เช่น ปลิงใส เห็บระฆัง ฯลฯ ที่จะอาศัยตามซอกเกล็ดหรือในเหงือกเพื่อเกาะกินเลือดปลา ก่อให้เกิดบาดแผลที่ผิวหนังภายนอกของปลา ซึ่งต้องทำการรักษาอย่างรวดเร็วเพื่อป้องกันการกระจายของเชื้อก่อนจะเสียหายรุนแรง กรณีเช่นนี้ นักวิชาการประมงจะแนะนำให้เกษตรกรทำการแช่ปลาในสารเคมีบางชนิดเช่น ฟอร์มาลีน ซึ่งเป็นสารที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ได้ในปริมาณที่เหมาะสมสำหรับการกำจัดเชื้อปรสิต และไม่เป็นอันตรายหรือตกค้างในตัวปลา
ทั้งนี้ ฟอร์มาลีนไม่ใช่สารต้องห้าม แต่เป็นสารที่มีประโยชน์ในการรักษาโรคผิวหนังของสัตว์น้ำ ช่วยกำจัดเชื้อหรือปรสิตของปลา ด้วยความเข้มข้นต่ำมากเพียง 100 ppm (100 ส่วนในล้านส่วน) หรือเท่ากับ ฟอร์มาลีน 100 ซีซี ต่อน้ำ 1 ตันก็เพียงพอในการรักษาอาการได้แล้ว ขณะเดียวกัน ฟอร์มาลีนยังเป็นสารที่ระเหยง่ายมาก จะสลายไปในระยะเวลาสั้นๆ ไม่ตกค้างในตัวปลา ผู้บริโภคจึงไม่ต้องกังวล ที่สำคัญคือ ไม่มีความเป็นไปได้เลยที่เกษตรกรจะฉีดฟอร์มาลีนเข้าไปในตัวปลา เนื่องจากสารดังกล่าวจะเข้าไปทำลายอวัยวะภายในของปลา จนไม่สามารถเลี้ยงต่อหรือนำมาจำหน่ายได้ ดังนั้น จึงขอให้หยุดส่งต่อข้อความที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงดังกล่าว เพราะส่งผลต่อผู้เลี้ยงปลาและผู้บริโภค
ด้าน นายอดิศร์ กฤษณวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาธุรกิจสัตว์น้ำ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวเสริมว่าการเลี้ยงปลานั้น หากไม่ป่วยก็จะไม่มีการใช้ยาหรือสารใดๆกับปลา แต่หากจำเป็นจะรักษาแผลที่ผิวหนังของปลาด้วยการแช่ปลาในฟอร์มาลีน ซึ่งสามารถทำได้ตามสัดส่วนที่กำหนด เพื่อกำจัดเชื้อปรสิตภายนอก
สำหรับการฉีดฟอร์มาลีนเข้าไปในตัวปลาเพื่อรักษาความสดนั้น ไม่สามารถทำได้ เพราะจะทำให้ปลาตาย เนื่องจากเนื้อเยื่ออวัยวะถูกทำลาย โปรตีนจะเปลี่ยนสภาพ เนื้อปลาจะมีลักษณะแข็ง ไม่สด ไม่น่ารับประทาน และไม่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ดังนั้น จึงไม่มีใครนำฟอร์มาลีนมาฉีดให้ปลาเพราะเป็นการเพิ่มต้นทุนโดยไม่มีประโยชน์ใดๆเลย
‘ปัจจุบันอุตสาหกรรมการเลี้ยงปลามีการพัฒนาด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เช่น นวัตกรรมการเลี้ยงสัตว์น้ำในระบบโปร-ไบโอติก (Pro-Biotic Farming) เพื่อการผลิตสัตว์น้ำปลอดสารสู่การบริโภคที่ปลอดภัย โดยอาศัยหลักการป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา ด้วยการจัดการภายในบ่อเลี้ยงให้ดี เพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรียและโปรโตซัวที่จะกระทบต่อสุขภาพสัตว์น้ำ ควบคู่กับการใช้จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ทำให้สัตว์น้ำแข็งแรงและมีภูมิต้านทานป้องกันตัวเองได้’ นายอดิศร์กล่าว
ขณะที่ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้อธิบายข้อสงสัยเรื่องนี้เช่นกัน โดยระบุถึงภาพที่อ้างว่าเป็นการฉีดฟอร์มาลินให้กับปลาว่าไม่ใช่ความจริง ภาพดังกล่าวเป็นเพียงการฉีดวัคซีนให้กับปลาขนาดเล็ก ราว 30-50-100 กรัม เพื่อสร้างภูมิต้านทานโรค ก่อนเกษตรกรจะนำไปเลี้ยงต่อให้ได้ขนาดที่ตลาดต้องการต่อไป