สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า มีการพบฟอสซิลของรังไข่ที่มีสเปิร์มของสัตว์ชนิดหนึ่งที่คาบสมุทรขั้วโลกใต้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญคาดว่าฟอสซิลนี้มีอายุมากกว่า 50 ล้านปี ถือได้ว่าเป็นฟอสซิลรังไข่ที่มีอายุมากที่สุดในโลก โดยการค้นพบฟอสซิลนี้จะช่วยให้นักวิจัยไขความลับประวัติศาสตร์การวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กอีกด้วย
รายงานระบุว่าฟอสซิลรังไข่นี้มีชื่อว่า Clitellata ถูกฝังอยู่ในตะกอนดินบนเกาะมาแรมบิโอ ในคาบสมุทรขั้วโลกใต้ โดยคาดว่ารังไข่นี้ถูกฝังไว้ประมาณ 50 ล้านปีที่แล้ว ในช่วงต้นของยุค Eocene ซึ่งเป็นยุคที่เก่าแก่ที่สุดของวิวัฒนาการ สำหรับขนาดและรูปร่างของฟอสซิลนั้นค่อนข้างคล้ายกับสเปิร์มของกั้งในปัจจุบัน
จากการตรวจสอบชิ้นฟอสซิล นักวิจัยคาดว่าสิ่งมีชีวิตสองเพศที่โตเต็มวัยได้ปล่อยสเปิร์มลงไปในรังไข่ จากนั้นรังไข่จึงถูกปิดผนึกและถูกฝังไว้ ซึ่งต่อมารังไข่ก็ใช้เวลาหลายชั่วโมงในการแข็งตัวเพื่อสร้างเยื่อหุ้มไข่สำหรับการพัฒนาตัวอ่อน นอกจากนี้ นักวิจัยจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติสวีเดนยังเชื่อว่าชิ้นส่วนที่คล้าย”ดอกสว่าน”และที่คาดว่าเป็นส่วนหางคือสเปิร์มของหนอนเพราะพบชิ้นส่วนที่มีลักษณะคล้ายกันในตัวอสุจิของหนอนกั้งที่อยู่ในวงศ์ Branchiobdellida
โดยความคล้ายกันนี้ไม่เพียงช่วยนักวิจัยระบุว่ารังไข่ชนิดนี้เป็นของสัตว์ชนิดไหนแต่ยังเผยให้เห็นประวัติศาสตร์การวิวัฒนาการอาจจะซับซ้อนกว่าที่คิดในตอนแรกเพราะการพบชิ้นส่วนที่คาบสมุทรแอนตาร์กติกาแสดงให้เห็นว่าสัตว์ชนิดนี้ได้ขยายพันธุ์ไปได้ไกลมาก
ด้านดร.เบนจามินบอมเฟลอหัวหน้านักวิจัยกล่าวว่า“เนื่องจากเซลล์ของสเปิร์มนั้นบอบบางและมีช่วงชีวิตสั้น ฟอสซิลของมันจึงหายากมาก ๆ” พร้อมทั้งกล่าวว่า “ตัวอย่างอื่นๆของฟอสซิลที่เป็นสเปิร์มได้ถูกเก็บรักษาไว้แร่อำพันในยุโรปและถ้ำในประเทศออสเตรเลีย การค้นพบนี้เป็นการเปิดโอกาสให้พบประวัติศาสตร์การวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ซึ่งในตอนแรกนั้นเรามีฟอสซิลที่เกี่ยวกับมันน้อยมาก”
ทั้งนี้ กลุ่มนักวิจัยกำลังวางแผนว่าจะทำการวิจัยฟอสซิลรังไข่จากพื้นที่อื่นๆของโลกเพื่อค้นหาว่าพวกมันมีเซลล์ของสเปิร์มหรือมีสิ่งมีชีวิตฝังไว้หรือไม่