อเลสซานโดร โซแรนโซ และ ไมเคิล นิวเบอร์รี สองนักวิทยาศาสตร์ด้านการมองเห็น (วิชั่น) ของมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ ฮัลแลม ที่เชื่อว่า เลโอนาโด ดาวินชี จิตรกรเอกของโลก ใช้เทคนิคพิเศษในการวาดภาพ “โมนาลิซา” ที่มีรอยยิ้มลึกลับเมื่อมองจากบางมุมหรือจากระยะไกลเหมือนยิ้มแย้ม
แต่เมื่อจับตามองจริงๆ รอยยิ้มที่เคยเห็นกลับหายไป และเชื่อว่าดาวินชี ต้องเคยใช้เทคนิคเดียวกันนี้ในการวาดภาพอื่นๆ มาก่อน ทำให้สามารถค้นพบ “โมนาลิซา สไมล์” ชิ้นที่ 2 ในภาพเขียนของดาวินชี ซึ่งเขียนขึ้นก่อนหน้าที่จะเขียนภาพโมนาลิซา อันโด่งดัง
ภาพเขียนที่ใช้เทคนิคเดียวกันเขียนรอยยิ้มให้กับบุคคลในภาพ คือ ภาพชื่อ “ลา เบลลา ปรินซิเพสซา” เป็นภาพเหมือนของ “เบียงกา” บุตรีนอกสมรสของ ลูโดวิโช สฟอร์ซา ผู้ครองนครมิลานในยุคทศวรรษ 1490 และเป็นคนว่าจ้างให้ดาวินชีเขียนภาพดังกล่าวเพื่อเป็นเกียรติในงานสมรสของ เบียงกา กับ ผู้บัญชาการทหารนครมิลาน ขณะที่เบียงกาอายุเพียง 13 ปี
ภาพดังกล่าวนี้ เมื่อมองจากระยะไกลจะดูเหมือนเบียงกากำลังยิ้ม แต่เมื่อเข้ามาเพ่งมองใกล้ๆ รอยยิ้มดังกล่าวจะเลือนหายไป อันเป็นผลจากการเขียนภาพโดยใช้เทคนิคเฉพาะที่เรียกว่า “สฟูมาโต” ซึ่งอาศัยสีและเงาสร้างภาพที่มีความนุ่มนวลไม่มีการตัดเส้นเพื่อเน้นความ ชัดเจนแต่ค่อยๆ เกลี่ยให้ขอบของรูปลักษณ์ต่างๆ กลืนเข้าด้วยกัน
นักวิจัยทั้งสองพบว่าดาวินชีใช้เทคนิค “สฟูมาโต” ทั้งกับภาพเหมือนของโมนาลิซาและและภาพ “ลา เบลลา ปรินซิเพสซา” ที่บริเวณปากของบุคคลในภาพ ไม่มีการตัดเส้นรูปปากแต่เกลี่ยให้ค่อยๆ กลืนเข้ากับส่วนที่เหลือของใบหน้า ซึ่งเป็นการลอกเลียนความเป็นจริงตามธรรมชาติที่คนเราจะมองเห็นได้ชัดเจนในส่วนที่เป็นใจกลางลานสายตาและบริเวณรอบนอกจะเบลอกว่า ไม่มีความชัดเจนของรูปร่างวัตถุที่เรามองเห็นเหมือนใจกลางลานสายตา ดาวินชีนำเอาส่วนที่เรามองเห็นไม่ชัดดังกล่าวมาใช้กับรอยยิ้มของสตรีทั้งสอง ทำให้เมื่อมองไกลๆ จะเห็นว่าโมนาลิซาก็ดี หรือเบียงกาก็ดี ยิ้มแย้มมากกว่าเมื่อเข้ามาดูใกล้ๆ นั่นเอง