นายกฤษฎา บุญราช ประธานกรรมการการไฟฟ้านครหลวง เปิดเผยว่า การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีลงนามความร่วมมือ(เอ็มโอยู) ในโครงการโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าและสายสื่อสารโทรคมนาคมแบบสายอากาศเป็นระบบสายใต้ดิน เพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน ว่า กฟน. มีความมุ่งมั่นพัฒนาการจำหน่ายไฟฟ้าให้กับประชาชนอย่างเพียงพอ มีความมั่นคง และคำนึงถึงความปลอดภัยในระบบไฟฟ้า พร้อมทั้ง ให้ความสำคัญกับการปรับทัศนียภาพให้มีความสวยงาม ตอบสนองตามนโยบายของภาครัฐบาล จึงได้ดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นระบบสายไฟฟ้าใต้ดิน ภายใต้ความร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.), บริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน), กรุงเทพมหานคร และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะปรับปรุงภูมิทัศน์ของกรุงเทพมหานคร ด้วยการดำเนินการเปลี่ยนระบบจ่ายกระแสไฟฟ้าและสายสื่อสารโทรคมนาคมให้กับประชาชนในพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร โดยการดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศและสายโทรคมนาคมเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน
นายกฤษฎา กล่าวว่า ในด้านบทบาทการดำเนินโครงการฯ ของแต่ละหน่วยงาน การไฟฟ้านครหลวงจะเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการก่อสร้างเพื่อเปลี่ยนระบบการจ่ายกระแสไฟฟ้า โดยกรุงเทพมหานครจะเป็นผู้ให้การสนับสนุนการบริหารจัดการปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น และมีผลกระทบต่อประชาชนในระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง ขณะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะให้การสนับสนุนการบริหารจัดการ วิเคราะห์และแก้ไขปัญหาการจราจรที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินโครงการฯ เพื่อให้การจราจรเกิดความคล่องตัว และประชาชนได้รับผลกระทบจากปัญหาการจราจร น้อยที่สุด สำนักงาน กสทช. จะเป็นผู้ให้การสนับสนุนการบริหารจัดการ และกำหนดนโยบายให้ผู้ประกอบการดำเนินการนำสายสื่อสารทั้งหมดลงใต้ดิน ทีโอที เป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินการก่อสร้างเพื่อรองรับการนำสายสื่อสารทั้งหมดลงใต้ดิน
อย่างไรก็ตาม พื้นที่ที่อยู่ในแผนการดำเนินการในระยะที่ 1 ที่อยู่ในระหว่างการเริ่มดำเนินการของ กฟน. ได้แก่ จิตรลดา ปทุมวัน และพญาไท นนทรี พระราม 3 รัชดาภิเษก-พระราม 9 หลังจากก่อนหน้านี้ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วในพื้นที่ สีลม พญาไท พหลโยธิน ลุมพินี สุขุมวิท และปทุมวัน โดยกรอบการดำเนินการนำสายไฟฟ้าและสายโทรคมนาคมทั้งหมดในพื้นที่กรุงเทพฯลงดิน ตามเอ็มโอยูจะใช้เวลาทั้งสิ้น 10 ปี (2559-2568) ภายใต้ วงเงินลงทุน 48,717 ล้านบาท ทั้งนี้คาดการดำเนินการจะใช้เวลาเสร็จสิ้นภายใน 5 ปี เนื่องจากล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีการสั่งการให้โครงการดังกล่าวต้องใช้เวลาแค่ 5 ปี รวมทั้งในระหว่างนี้ให้เร่งเก็บสายไฟที่ระโยงระยางให้เรียบร้อย
“หากเห็นตามข่าว เมื่อไม่กี่วันนี้ที่มีนักธุรกิจชาวต่างชาติชื่อดัง(นายบิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งบริษัท ไมโครซอฟต์) ได้โพสต์ภาพบนเฟสบุ๊ค ถึงสายไฟที่ระโยงระยางในประเทศไทยไทย ส่วนตัวได้มีการหารือกับ พล.อ.อนุพงษ์ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็ได้มีการให้คำแนะนำว่าอย่าไปแก้ตัว แต่อยากให้ทำให้เขาและคนอื่นๆเห็นด้วยการปรับภูมิทัศน์นำสายไฟและสายโทรคมนาคมลงดินให้เห็นว่าเมืองมีความสวยงามขึ้นแทน” นายกฤษฎา กล่าว
ด้านนายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ในส่วนของระบบสายโทรคมนาคมนั้น ทีโอทีมีโครงการท่อร้อยสายซึ่งก็จะดำเนินการควบคู่กันไปกับโครงการเอาสายไฟลงดินของกฟน.ซึ่งทีโอทีจะใช้งบดำเนินการของตัวเองโดยคาดว่าต้องใช้งบลงทุนรวมทั้งหมดราว 3,000 ล้านบาท ซึ่งในอนาคตคาดว่าจะมีค่าเช่าจากโครงการท่อร้อยสายที่ให้เอกชนมาเช่าใช้ราว 1,000 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ปัจจุบัน ทีโอที ได้เริ่มวางท่อร้อยสายใต้ดินในพื้นที่ กรุงเทพฯ แล้ว โดยมีตวามยาวของท่อรวมกันที่ 20,000 กิโลเมตร