ที่มา: dodeden

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560 ณ โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร นำคณะศึกษาดูงานจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อาทิ นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุขศ.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณทีดีอาร์ไอ, พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร บอร์ด สปสช., นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวลา บอร์ด สปสช., นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการ สปสช. ดูงานการบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างยั่งยืนของประเทศญี่ปุ่น

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ประเทศญี่ปุ่นโดยองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่นหรือไจก้าได้เชิญไทยมาศึกษาดูงานในครั้งนี้ โดยเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือเพื่อพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของญี่ปุ่นเป็นต้นแบบที่ดีแห่งหนึ่งของโลก

การดูงานครั้งนี้ใช้เวลา 3 วัน (22-25 ก.พ.) เพื่อเรียนรู้เรื่องการจัดการระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของญี่ปุ่นตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงการดำเนินการในปัจจุบัน การจัดการเรื่องการเงินการคลังในระบบหลักประกันสุขภาพของญี่ปุ่น การแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติที่ได้ผลจริง ศึกษาการบริหารจัดการของโรงพยาบาลในประเทศญี่ปุ่นจากที่เคยเป็นโรงพยาบาลรัฐสู่โรงพยาบาลในกำกับของรัฐ และความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่นเพื่อการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าร่วมกัน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อว่า ในวันแรกนี้ คณะดูงานของไทยไปที่รัฐสภากรุงโตเกียว ญี่ปุ่น เพื่อหารือกับ ศาสตราจารย์เคโซะ ทาเคมิ สมาชิกวุฒิสภาโตเกียว ประธานกรรมาธิการพิเศษด้านยุทธศาสตร์สุขภาพโลก วุฒิสภาญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำสำคัญด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของญี่ปุ่น ได้เล่าถึงประสบการณ์ขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพของญี่ปุ่น ซึ่งญี่ปุ่นใช้สุขภาพเป็นหนึ่งในนโยบายต่างประเทศที่สำคัญเพื่อสร้างความร่วมมือระดับโลก ของไทยก็มีความร่วมมือด้านสุขภาพกับประเทศญี่ปุ่นคือความร่วมมือพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

“ญี่ปุ่นร่วมมือกับไทย เพราะเห็นว่าเรามีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ค่อนข้างเข้มแข็งในบรรดาประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน ความร่วมมือนี้ก็เพื่อทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยมีความเข้มแข็งขึ้นอีก และเป็นตัวอย่างเพื่อช่วยขับเคลื่อนประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ไปสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตามมติประชาคมโลกด้วยกัน”

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ประเด็นที่น่าสนใจที่สอดคล้องกับแนวคิดของไทยคือ ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 รัฐบาลญี่ปุ่นมีนโยบายระดับชาติที่สำคัญของรัฐบาลญี่ปุ่นคือการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แต่เศรษฐกิจประเทศจะขยายตัวได้ คนในชาติต้องมีสุขภาพที่ดีด้วย

ดังนั้นประเทศญี่ปุ่นจึงพัฒนาเศรษฐกิจโดยไม่ทิ้งสุขภาพของประชาชน รัฐบาลญี่ปุ่นใช้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจ และมีมุมมองที่สำคัญคือให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพชนชั้นกลางควบคู่ไปกับประชาชนกลุ่มเปราะบาง

เช่น คนจน เพราะชนชั้นกลางเป็นกลุ่มที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จึงต้องสนับสนุนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ขณะเดียวกันก็ต้องส่งเสริมสุขภาพดีของกลุ่มเปราะบางด้วยเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชากรกลุ่มนี้ให้เป็นชนชั้นกลางเพื่อช่วยกันพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

“จะเห็นว่าเป็นแนวคิดเดียวกับของไทย ที่ผมได้ย้ำเสมอว่า เพราะเรายากจนเราจึงต้องมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นโยบายที่รัฐเป็นผู้ลงทุนหลักด้านสุขภาพ ทำให้สามารถลดการล้มละลายทางการเงินของประชาชนจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพได้อย่างดี และป้องกันความยากจนด้วย จากแนวคิดที่สอดคล้องของไทยและญี่ปุ่นตรงนี้นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการร่วมมือระหว่างประเทศพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต่อไป”ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าว

เรื่องน่าสนใจ