วันนี้ ( 17 มกราคม 2560 ) ที่ จ.ชลบุรี นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมติดตามผลการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านสาธารณสุข นโยบายเร่งด่วนของปีงบประมาณ 2560 ของเขตสุขภาพที่ 6
และให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งรัดให้โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่งปฏิรูปและขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ชาติ ด้านสาธารณสุขให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาความเป็นเลิศ 4 ด้าน
คือ การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ไม่ให้ประชาชนเจ็บป่วย (P&P Excellence) การจัดระบบบริการสุขภาพ (Service Excellence) การพัฒนาคน (People Excellence) และระบบบริหารจัดการที่มีคุณธรรม(Governance Excellence) โดยทุกอย่างต้องมุ่งเป้าไปที่ประชาชน ให้คุณค่าผู้ป่วยด้วยการ “เข้าใจ เข้าถึง พึ่งได้”
ในส่วนการจัดระบบบริการสุขภาพ (Service Excellence) ได้ให้ความสำคัญกับโรคที่เป็นสาเหตุการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของประชาชน รวมทั้งนวัตกรรมด้านการแพทย์ที่ช่วยให้สุขภาพประชาชนสุขภาพดีขึ้น
เช่น การพัฒนาระบบการรับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ มีเป้าหมายคือ “เพิ่มการปลูกถ่ายอวัยวะ ลดการตาย ได้คิวเร็ว” เพราะการปลูกถ่ายอวัยวะ เป็นทางรอดทางเดียวสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ ตับ ปอด ไต วายระยะสุดท้าย รวมทั้งช่วยแก้ปัญหาความพิการของดวงตา
โดยเฉพาะผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย การปลูกถ่ายไตจะช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิต ต่ำกว่าการฟอกเลือดหรือล้างไตทางช่องท้อง โดยผู้บริจาค 1 ราย สามารถช่วยชีวิตผู้รับบริจาคอวัยวะได้ถึงมากกว่า 8 คน
ทั้งนี้ ผลการวิจัยของกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย พบว่า มีผู้ป่วยที่มีอวัยวะที่อยู่ในเงื่อนไขที่สามารถบริจาคอวัยวะจำนวนมาก แต่ด้วยความเชื่อที่ว่าบริจาคแล้วชาติหน้าอวัยวะจะไม่ครบซึ่งไม่เป็นจริงตามหลักพุทธศาสนาและความไม่เข้าใจว่าผู้ที่มีภาวะสมองตายคือผู้ที่เสียชีวิตแล้ว ทำให้ผู้บริจาคอวัยวะมีน้อย เพียงประมาณ 200 คนต่อปี
โดยข้อมูล ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2559 มีผู้ป่วยรอรับอวัยวะทั้งหมด 5,458 ราย และเสียชีวิตระหว่างรออวัยวะ 100-200 รายต่อปี ส่วนการปลูกถ่ายกระจกตามีผู้รอรับการผ่าตัด 11,591 ราย กระทรวงสาธารณสุข จึงเร่งพัฒนาระบบบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ โดยเพิ่มความเข้มแข็งในการดำเนินการโดยกำหนดให้เป็น Service plan สาขาที่ 13 รวมทั้งสนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมรณรงค์รับบริจาคอวัยวะและดวงตา“ทำดีที่สุดถวายเป็นพระราชกุศล” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9
ผลการดำเนินงาน พบว่า จำนวนผู้บริจาคอวัยวะสมองตาย (deceased donor) เพิ่มขึ้นจาก 206 ราย ในปี 2558 เป็น 220 รายในปี 2559 ที่สำคัญคือการเพิ่มโรงพยาบาลที่สามารถดำเนินการรับบริจาคอวัยวะสมองตาย 13 แห่ง มียอดผู้บริจาคอวัยวะสมองตาย 16 ราย
ส่วนการจัดเก็บดวงตาเพิ่มขึ้นจากเดือนละ 70 ดวงตา มากกว่า 100 ดวงตาต่อเดือน สำหรับเขตสุขภาพที่ 6 ประกอบด้วย 8 จังหวัด ได้แก่ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว สมุทรปราการ จันทบุรี ชลบุรี ตราดและระยอง
โดยมีโรงพยาบาลเป้าหมายการดำเนินการรับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ ประกอบด้วย รพ.ชลบุรี รพ.ระยอง รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ จ.ปราจีนบุรีและรพ.สมุทรปราการ มีจำนวนผู้บริจาคอวัยวะสมองตาย จากปี 2558 มี 3 ราย เพิ่มเป็น 6 รายในปี 2559