ผู้สื่อข่าว เว็บไซต์โดดเด่นดอทคอม รายงานว่า วันนี้ ( 12 มีนาคม 2560 ) นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ฤดูร้อนปี 2560 กรมอุตุนิยมวิทยาประเมินว่า ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนเมษายน จะมีอากาศร้อนอบอ้าวและร้อนจัดในบางพื้นที่โดยอุณหภูมิสูงสุดอาจจะสูงถึง 42-43 องศาเซลเซียส
ซึ่งปกติร่างกายของมนุษย์มีอุณหภูมิอยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส หากร่างกายเผชิญกับอากาศที่ร้อนกว่านี้และไม่สามารถปรับลดอุณหภูมิได้ อาจเกิดโรคลมแดดหรือ ฮีทสโตรก (Heat Stroke) ซึ่งมีอันตรายอย่างรุนแรง อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตจากการทำงานที่ผิดปกติของระบบสมอง หากได้รับการรักษาได้อย่างทันท่วงทีก็จะสามารถช่วยรักษาชีวิตได้และลดความพิการได้อย่างมาก
ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระบุว่าระหว่างวันที่ 1 มีนาคม-17 เมษายน 2559 มีผู้เสียชีวิตจากโรคลมร้อน 21 คน เป็นชาย 20 คน หญิง 1 คน อายุระหว่าง 29-72 ปี ส่วนใหญ่เสียชีวิตในที่สาธารณะ 13 คน ในบ้าน 5 คนในรถ 2 คน ในวัด 1 คน เป็นผู้ประกอบอาชีพรับจ้าง
เฉพาะระหว่างวันที่ 10-17 เมษายน มีผู้เสียชีวิต 8 คน เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงอากาศร้อน และในช่วงเวลาเดียวกันระหว่าง พ.ศ.2556-2559 มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 32 คน ผู้ป่วยโรคลมแดด เกิดจากการที่ร่างกายได้รับความร้อนสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส จะมีอาการเบื้องต้น ได้แก่ เมื่อยล้า อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน วิตกกังวล สับสน ปวดศีรษะ ความดันต่ำ หน้ามืด และยังอาจมีผลต่อระบบไหลเวียน ซึ่งอาจมีอาการเพิ่มเติม เช่น ภาวะขาดเหงื่อ เพ้อ ชัก ไม่รู้สึกตัว หายใจเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ช็อค หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้เสียชีวิตได้
นพ.โสภณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) สื่อสารความรู้คำแนะนำในการดูแลและป้องกันโรคลมแดดให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะ 6 กลุ่มเสี่ยงได้แก่ 1.ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เช่น เล่นกีฬาหรือฝึกทหารโดยขาดการเตรียมตัวมาก่อน ผู้ใช้แรงงานกลางแดด เช่น กรรมกร ก่อสร้าง เกษตรกร 2.เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีและผู้สูงอายุ 3.ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง 4.คนอ้วน 5.คนอดนอน และ6.คนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัด
ด้านนายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การช่วยเหลือผู้ป่วยโรคลมแดดมี 5 ขั้นตอน ได้แก่ 1.นำผู้มีอาการเข้าร่ม นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง ถอดเสื้อผ้าชั้นนอกออก 2.เทน้ำเย็นราดลงบนตัวเพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลงโดยเร็วที่สุด 3.ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ
4.ไม่ควรใช้ผ้าเปียกคลุมตัวเพราะจะขัดขวางการระเหยของน้ำออกจากร่างกาย 5.รีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดหรือโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือสายด่วน 1669 ส่วนการปฏิบัติตัวไม่ให้เป็นลมแดด ควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดที่ร้อนจัด โดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัวด้านหลอดเลือดหรือหัวใจ หากจำเป็นให้กางร่มหรือใส่หมวก ดื่มน้ำเปล่ามากๆ ตลอดทั้งวันโดยไม่ต้องรอหิวน้ำ ไม่ทิ้งเด็กเล็กหรือผู้ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ไว้ในรถที่จอดตากแดดเพราะอาจเสียชีวิตจากความร้อนได้
หากรู้สึกหิวน้ำมาก ตัวร้อนแต่เหงื่อไม่ออก หายใจถี่ ปากคอแห้ง อาจวิงเวียนศีรษะ ให้รีบไปพบแพทย์