ผลวิจัย มจร.แฉคนไทยทำศัลยกรรมพุ่ง เชื่อใช้เป็นทางลัดชีวิตดีขึ้น มีคู่ครอง ไม่อกหัก ไม่ตกงาน มีหน้ามีตาในสังคม ส่งผลเพิกเฉยต่อการทำความดีวัดคุณค่าคน ขัดต่อหลักพระพุทธศาสนาที่เน้นทำดีได้ดี
บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ประกาศผลวิทยานิพนธ์ดีเด่นประจำปี 2557 โดยหนึ่งในงานวิทยานิพนธ์ที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก คือ วิทยานิพนธ์เรื่อง “การศึกษาการทำศัลยกรรมความงามในมุมมองของพระพุทธศาสนา” ของ น.ส.จงจิต พานิชกุล นักศึกษาพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา มจร. วิทยาเขตเชียงใหม่ โดยน.ส.จงจิต กล่าวว่า วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษา 3 ประการ คือ 1. เพื่อศึกษาความงามในพระพุทธศาสนา 2. เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องการทำศัลยกรรม และ 3. เพื่อศึกษาการทำศัลยกรรมความงามในมุมมองของพระพุทธศาสนา โดยการวิจัยผู้วิจัยได้ศึกษาเชิงเอกสาร (Documentary Research) จากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อรรถกถา หนังสือ วารสารและเอกสารงานวิจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และการสัมภาษณ์ประกอบการวิจัยจากภิกษุผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ที่ผ่านการทำศัลยกรรมความงามมาแล้ว
น.ส.จงจิต กล่าวต่อไปว่า ผลการศึกษาพบว่า ความงามในพระพุทธศาสนามี 2 ประเภท คือ ความงามภายนอก ได้แก่ สิ่งที่มองเห็นด้วยประสาทสัมผัส เช่น ตา เป็นต้น ส่วนความงามภายใน คือ ความงามที่เป็นนามธรรม จับต้องไม่ได้ แต่แสดงออกให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ เช่น กิริยามารยาทที่ดี มีสัมมาคารวะ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันความงามภายในกลายเป็นสิ่งที่สังคมเพิกเฉย เพราะความงามภายนอก มองเห็นได้ง่าย ทำให้ความงามภายนอกเป็นสิ่งสำคัญในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเลือกคู่ครอง อาชีพ เป็นเครื่องมือผลักดันสู่ความสำเร็จ เสริมสร้างความมั่นใจและสร้างความเป็นตัวตน ที่น่าตกใจ กลุ่มตัวอย่างผู้ทำศัลยกรรมความงามบางคน เข้าใจว่า การทำศัลยกรรมเยียวยาปัญหาในชีวิตได้ ไม่ว่าจะเป็นแก้ปัญหาตกงาน อกหัก ทำออกมาแล้วจะดูดีเหมือนอยู่ในทีวี สร้างความมั่นใจทั้งด้านการงาน สังคมหรือความรัก แต่การทำศัลยกรรมความงามก็ยังมีข้อเสียอยู่มากมายทั้งเสียทรัพย์ เจ็บปวด แพ้ยาหรือสารเคมี ทำแล้วไม่ได้ผลตามที่หวัง แต่ผู้คนก็ไม่ได้กลัวทำกลับทำกันมากยิ่งขึ้น จากความเชื่อที่จะทำให้สังคมยอมรับ
“ที่ผ่านมาคนจะทำศัลยกรรมเพื่อแก้ไขความผิดปกติของอวัยวะให้ใช้งานที่ดีขึ้น แต่หลังสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2เป็นต้นมาการทำศัลยกรรมความงามได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จนในปัจจุบันประเทศไทยมีคลีนิคศัลยกรรมความงามอยู่เป็นจำนวนมาก แข่งขันกันลดราคา ทำให้ราคาถูกลงและกลายเป็นเรื่องที่ไม่จำกัด เฉพาะกลุ่มผู้มีฐานะดีเท่านั้น คนส่วนใหญ่ยอมรับได้และมองว่าการทำศัลยกรรมความงามเป็นเรื่องปกติ”ผู้วิจัยกล่าว
น.ส.จงจิต กล่าวอีกว่า ผลการวิจัยยังพบอีกว่า คนส่วนใหญ่หรือทางโลก เชื่อว่า ความแตกต่างทางหน้าตานั้นเกิดจากพันธุกรรมที่ได้รับจากบิดามารดาและบรรพบุรุษ ทำให้คนในสังคมละเลยเรื่องบาปบุญ มุ่งแต่จะพัฒนาความงามภายนอกมากกว่าความงามภายใน แม้ว่าความงามภายนอกจะเป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน ต้องแก่ ต้องตาย แต่ความสำคัญของความงามก็ไม่เคยลดน้อยลงกลับเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะสังคมมองว่าความงามเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำเนินชีวิต เป็นสิ่งที่เชิดหน้าชูตาต่อคนที่เป็นเจ้าของความงามนั้น โดยเฉพาะในสังคมบริโภคนิยม ส่งผลให้สังคมเลือกที่จะมองคนเพียงแค่รูปลักษณ์ภายนอก ตัดสินการกระทำ ความสามารถและศักยภาพจากหน้าตา ดังจะเห็นได้จากผลงานทางการวิจัยในประเทศออสเตรเลียที่ได้เปิดเผยว่า เจ้านายยุคใหม่ต้องการร่วมงามกับสาวร่างผอมบางมากกว่าสาวที่รูปร่างอ้วน โดยผู้ที่รูปร่างบอบบางจะถูกคาดหวังว่าจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานมากกว่า รวมทั้งได้เงินเดือนมากกว่าด้วย.
ขอบคุณที่มา เดลินิวส์