เจมส์ ฮอร์เนอร์ นักบรรพชีววิทยาผู้มีชื่อเสียงได้รับการยอมรับกันในระดับโลก จากผลงานการศึกษาค้นคว้าซากฟอสซิลไดโนเสาร์ ไมซอรา จนสามารถบรรยายถึงพฤติกรรมและการใช้ชีวิตแบบรวมฝูงของมันได้โดยละเอียดใน ช่วงทศวรรษ 1980 ทั้งยังเป็นผู้นำเสนอแนวความคิดใหม่เกี่ยวกับไทรันโนเซอรัส เร็กซ์ (ทีเร็กซ์) ว่าไม่ใช่ไดโนเสาร์นักล่า แต่เพียงอาศัยซากสัตว์ที่ตายแล้วเป็นอาหารเท่านั้น
ศาสตราจารย์ ฮอร์เนอร์ยังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับภาพยนตร์ชุด “จูราสสิค” มาตั้งแต่ตอนแรก “จูราสสิค ปาร์ค” เรื่อยมาจนกระทั่งถึงตอนล่าสุด “จูราสสิค เวิลด์”ในขณะที่ยังคงทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ห้องปฏิบัติการในสังกัด มหาวิทยาลัยแห่งรัฐมอนทานา สหรัฐอเมริกา พร้อมกับแสดงความคิดเห็นว่า มีความเป็นไปได้เช่นกันที่มนุษย์สามารถสร้างไดโนเสาร์ขึ้นมาใหม่ สำหรับใช้เป็น “สัตว์เลี้ยง” ประจำบ้านภายในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า
แต่ศาสตราจารย์ผู้นี้ยืนยันว่า วิธีการที่ใช้ในการสร้างไดโนสาร์ ไม่ใช่การนำดีเอ็นเอจากฟอสซิลมาใช้เหมือนที่ทำกันในภาพยนตร์ ซึ่งเป็นแนวความคิดของ ไมเคิล ไครช์ตัน ผู้เขียนเรื่องนี้ โดยให้เหตุผลว่า ดีเอ็นเอเป็นโมเลกุลขนาดใหญ่ เกิดขึ้นจากองค์ประกอบนับเป็นล้านล้านชิ้นเชื่อมต่อเข้าด้วยกันในนิวเคลียส ของเซลล์ด้วยสารเคมี
“ในทันทีที่เซลล์ตาย เคมีเหล่านั้นยุติการทำงานลง และโมเลกุลเหล่านี้ซึ่งบอบบางอย่างมาก ก็เริ่มแตกสลาย” ฮอร์เนอร์ระบุ เสริมด้วยว่า กระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และตนไม่คิดว่าจะมีอะไรหลงเหลืออยู่หลังเวลาผ่านไปเป็นหลายล้านปี”
ความ เป็นไปได้ในการสร้างไดโนเสาร์ เหมือนอย่าง “อินโดไมนัส เร็กซ์” เครื่องจักรนักฆ่าใน “จูราสสิค เวิลด์” หรือแม้แต่การสร้าง “ทีเร็กซ์” ตัวขนาดสุนัขพูเดิล เพื่อใช้เป็นสัตว์เลี้ยง น่าจะอยู่ที่การใช้สัตว์ที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบันซึ่งมีความเชื่อมโยงอยู่ กับสัตว์ในโลกล้านปีอย่างไดโนเสาร์อยู่ในตัวสูงมากเป็นฐาน แล้วเปลี่ยน “รูปร่าง” ให้กลายเป็นรูปร่างเดิมในอดีต โดยไม่คำนึงถึงขนาด ซึ่งศาสตราจารย์ฮอร์เนอร์บอกว่าเป็นเรื่องที่ต้องว่ากันอีกทีในภายหลัง
ผู้ เชี่ยวชาญเรื่องไดโนเสาร์ผู้นี้ชี้ว่า ความสำเร็จในการใช้เทคโนโลยี “เรโทร-เอนจิเนียร์” สร้างปากของนกย้อนยุคกลับไปสู่ยุคไดโนเสาร์ ของทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเยลและฮาร์วาร์ดเมื่อเร็วๆ นี้ เป็นการพิสูจน์แนวความคิดเรื่องนี้ว่าเป็นไปได้ เช่นเดียวกับการสร้างสัตว์ที่มีพันธุกรรมข้ามสายพันธุ์ หรือ “ทรานสจีนิค” ได้สำเร็จแล้ว อย่างเช่นการนำเอาพันธุกรรมของแมงกะพรุนเรืองแสงมาใส่ให้กับปลาม้าลาย เพื่อสร้างปลาม้าลายเรืองแสงขึ้นมาขายกันทั่้วไปในเวลานี้ได้สำเร็จแล้ว ก็แสดงให้เห็นว่าแนวความคิดในเรื่องนี้เป็นไปได้
“นอกจากเราจะ เปลี่ยนปาก เรายังเปลี่ยนรูปแบบของหาง แล้วทำปีกให้กลายเป็นแขนขา เพื่อทำให้ไก่หรือนกกลายเป็นไดโนเสาร์ตัวขนาดเท่าไก่ได้นั่นเอง” ศาสตราจารย์ฮอร์เนอร์ระบุ ความสำเร็จในเรื่องนี้มีคุณค่านอกเหนือจาก ความน่าทึ่งเพียงอย่างเดียว แต่สามารถนำเทคโนโลยีในการสับเปลี่ยนยีนไปประยุกต์ใช้ได้อีกหลากหลายมากใน ทางการแพทย์ หรือในด้านอื่นๆ อย่างเช่นการพัฒนาพืชหรือสัตว์ที่เป็นอาหารให้ดีขึ้น
เจมส์ ฮอร์เนอร์ ยอมรับว่า ยากที่จะคาดการณ์ได้ว่า การสร้างไดโนเสาร์ด้วยวิธีสับเปลี่ยนยีนจะเป็นไปได้เมื่อใด เพราะพัฒนาการของวิชาการด้านนี้ไม่ได้ค่อยเป็นค่อยไป แต่ก้าวกระโดดได้ทันถ้าหากใครสักคนค้นพบยีนที่ถูกต้องขึ้นมา แถมในเวลานี้มีนักวิทยาศาสตร์หลายทีมจากทั่วโลกทำวิจัยด้านนี้กันอยู่ ห้องปฏิบัติการของตนก็กำลังค้นคว้าหาทางสร้าง “ทีเร็กซ์” ขนาดสุนัขพูเดิล อยู่ในขณะนี้
ฮอร์เนอร์เชื่อว่า มีความเป็นไปได้ที่เราจะมีไดโนเสาร์ให้เลี้ยงภายใน 10 ปีนี้