เนื้อหาโดย Dodeden.com
บรรพบุรุษของไทยมีความเจริญมั่นคง สร้างสมอารยธรรมเป็นปึกแผ่นในดินแดนสุวรรณภูมิมานานนับร้อยปี ดังปรากฏหลักฐานทั้งทางโบราณวัตถุและโบราณ สถาน กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดําเนินไปทอดพระเนตรโบราณวัตถุ โบราณสถาน แหล่งโบราณคดี และแหล่งประวัติศาสตร์หลายครั้ง ด้วยความสนพระราชหฤทัย ทั้งพระราชทานแนวพระราชดําริในการอนุรักษ์ฟื้นฟูและบริหารจัดการแก่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบมาโดยตลอด
เมื่อ พ.ศ. 2500 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดําเนินไปทอดพระเนตรโบราณวัตถุที่ขุดได้จากกรุพระปรางค์ วัดราชบูรณะ มีพระราชปรารภกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและอธิบดีกรมศิลปากรว่า “เมื่อเจอโบราณวัตถุชิ้นใด ที่ใด ก็ควรเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ของจังหวัดนั้นๆ”
กรมศิลปากร และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ร่วมกันสนองพระราชปรารภ จัดหาทุนก่อสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยาขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดําเนินทรงประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2504 หลังจากเปิด พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยาแล้ว ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จพระราชดําเนินไปทรงพักผ่อนพระราชอิริยาบถ ณ พระที่นั่งเย็น ซึ่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จัดสร้างเป็นอาคารประยุกต์ทับบนซากโบราณสถานที่บริเวณบึงพระราม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีกระแสพระราชดํารัสว่า
“การสร้างอาคารสมัยนี้ คงจะเป็นเกียรติสําหรับผู้สร้างคนเดียว แต่เรื่องโบราณสถานเป็นเกียรติยศของชาติ อิฐเก่า ๆ แผ่นเดียวก็มีค่า ควรช่วยกันรักษาไว้ ถ้าเราขาดสุโขทัย อยุธยาและกรุงเทพฯ แล้ว ประเทศไทยก็ไม่มีความหมาย ไม่ควรเอาของใหม่ไปปนกับของเก่า ควรรักษาของเก่าไว้ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตใจของพลเมือง และสิ่งเหล่านี้เป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งควรรักษาไว้”
กระแสพระราชดํารัสดังกล่าว เป็นประโยชน์ยิ่งต่อแนวทางการรักษาโบราณวัตถุและโบราณสถานของชาติ ทรงเตือนสติให้คนไทยตระหนักในความสําคัญของการศึกษาประวัติศาสตร์และอารยธรรมอันรุ่งเรือง ที่บรรพบุรุษได้สร้างสมไว้เป็นมรดกล้ำค่าของชาติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อดํารงรักษา อนุรักษ์ฟื้นฟู และสืบทอดมรดกวัฒนธรรมของชาติ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์และแนวพระราชดําริอันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการอนุรักษ์พัฒนา นับเป็นพระราชคุณูปการใหญ่หลวงต่อประเทศและปวงชนชาวไทย ด้วยความสํานึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมเทิดพระเกียรติถวายพระราชสมัญญา ” พระบิดาแห่งการอนุรักษ์มรดกไทย” เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2552 เพื่อเป็นสวัสดิมงคลแก่วงการศิลปวัฒนธรรมของแผ่นดินสืบไป