ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์

แม้ว่านักบุญแห่งที่ราบสูงหรือ หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ จะลาจากโลกนี้ไปแล้ว แต่เชื่อว่าคำสอนและคุณความดีของท่านยังคงอยู่ในใจชาวไทยไปตราบนานเท่านาน และอีกหนึ่งสถานที่สำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับชีวิตของท่านก็คือ วัดบ้านไร่ ที่ตอนนี้หลายคนคงอยากไปเที่ยวชมให้ได้สักครั้ง

วันนี้โดดเด่นขอพาเที่ยวชมวัดบ้านไร่ สถานที่ที่หลวงพ่อคูณเคยจำวัดในฐานะเจ้าอาวาส นอกจากจะสวยงามอลังการแล้ว ยังสามารถท่องเที่ยวและเรียนรู้หลักคำสอนของท่านได้อีกมากมายหลายมิติ ถ้าพร้อมแล้วตามมาชม 10 ข้อน่ารู้เกี่ยวกับวัดบ้านไร่แห่งนี้กันเลย

1. วัดเก่าแก่ ตั้งแต่สมัย ร.5

ขอเริ่มต้นจากประวัติความเป็นมาของวัดบ้านไร่กันก่อน วัดบ้านไร่เดิมเป็นสำนักสงฆ์ที่มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2436 ในช่วงรัชกาลที่ 5 โดยมีพระอาจารย์เชื่อม วิรโช เป็นเจ้าอาวาสรูปแรกได้มีการก่อสร้างศาสนอาคารต่างๆ ขึ้น ต่อมาในช่วงที่หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ เป็นเจ้าอาวาส ได้มีการพัฒนาวัดมากที่สุด ด้วยมีผู้ศรัทธาจากทั่วประเทศได้ร่วมถวายวัตถุปัจจัยเป็นเงินมหาศาล หลวงพ่อคูณได้ก่อตั้งเป็นมูลนิธิหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ เพื่อกิจกรรมสาธารณประโยชน์ต่างๆ เช่น การบูรณะวัด การสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล เป็นต้น

2. สถานที่ตั้งปัจจุบัน

01

ปัจจุบันวัดบ้านไร่ (วัดหลวงพ่อคูณ) ตั้งอยู่ในตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา มีชื่อเสียงโด่งดังเนื่องจากหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ เป็นพระเกจิชื่อดังที่มีผู้คนเคารพศรัทธามากมายทั่วประเทศ

หลวงพ่อคูณเป็นพระชาวบ้านที่เข้าถึงมวลชนทุกระดับชั้น ตั้งแต่เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน นักการเมืองไปจนถึงชาวบ้าน ด้วยท่านมีเมตตามหานิยม มีวิธีการสั่งสอนที่ตรงไปตรงมาง่ายแก่การเข้าใจ จากความศรัทธาเลื่อมใสในตัวหลวงพ่อคูณที่มากมายมหาศาลเช่นนี้เอง จึงทำให้วัดแห่งนี้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปด้วย

3. สถานที่สำคัญในวัด

02

ภายในวัดมีสิ่งปลูกสร้างสำคัญๆ อยู่หลายอาคาร ได้แก่ พระอุโบสถ พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณ หอแก้ว หอระฆัง อาคารประชาสัมพันธ์ ศูนย์โอทอป (OTOP) และหอเทพวิทยาคม เฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา (อาคารปริสุทธปัญญา)

4. หอเทพวิทยาคม อุทยานธรรมกลางบึง

03

สถานที่ที่โดดเด่นที่สุดในวัดแห่งนี้คงหนีไม่พ้น หอเทพวิทยาคม เฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา (อาคารปริสุทธปัญญา) ที่นี่เป็นอุทยานธรรมกลางบึงน้ำขนาดใหญ่ของวัดบ้านไร่ เพิ่งสร้างเสร็จในปี 2554 ถือเป็นจุดเด่นสำคัญของวัดบ้านไร่ ลักษณะเป็นอาคารประติมากรรมช้าง ตั้งอยู่บนพื้นที่บึงน้ำขนาด 30 ไร่ เป็นอาคารสูง 5 ชั้น รวมชั้นใต้ดิน (ชั้นบาดาล) และชั้นดาดฟ้า อาคารตั้งอยู่บนลานทรงกลมมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 65 เมตร เรียกว่าหอเทพวิทยาคมเป็นพุทธสถานในนิกายเถรวาทที่มีชนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ ไทย

5. แนวคิดการออกแบบหอเทพวิทยาคม

04

ภายในหอเทพวิทยาคมถูกออกแบบให้เป็น มหาวิหารแห่งพระไตรปิฎก เป็นดินแดนที่รวบรวมพุทธประวัติ พระวินัย และพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงแสดงไว้ทั้งหมด เพื่อจรรโลงพระศาสนาให้เป็นไปตามบัญญัติของพระพุทธองค์ ที่นี่จึงเป็นสถานที่แห่งแรกและแห่งเดียวในโลกที่นำเอาพระไตรปิฎกมาแสดงและ ให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป

นอกจากนี้ หอเทพวิทยาคมยังประกอบขึ้นด้วยโมเสกมากกว่า 20 ล้านชิ้น และใช้แรงงานชาวบ้านเป็นผู้ติดอย่างละเอียดด้วยจิตศรัทธาและสมาธิ เพราะ 1 วัน 1 คน สามารถติดเซรามิกโมเสกชิ้นเล็กที่สุดเท่าเม็ดถั่วเขียวได้เพียงไม่เกิน 1 ตารางเมตร

6. สิ่งที่น่าสนใจในหอเทพฯ

05

อย่างที่บอกว่าหอเทพวิทยาคมเป็นอาคารสูง 5 ชั้น ตั้งอยู่กลางบึงน้ำ มีความกว้าง 60 เมตร ยาว 60 เมตร เป็นปริมณฑล อาคารสิ่งก่อสร้างองค์กลางมีขนาดกว้าง 30 เมตร ยาว 30 เมตร ความสูง 42 เมตร แต่ละชั้นประกอบไปด้วย

– ชั้นใต้ดิน : เป็นส่วนจัดแสดงเหมือนโลกใต้บาดาลอันศักดิ์สิทธิ์ ผู้เข้าชมสามารถรับของที่ระลึกจากเงินทำบุญที่ได้บริจาคไป ซุ้มของที่ระลึกแบ่งเป็น 2 โซน คือ โซนบริเวณโถงกลาง เรียกว่า ซุ้มของที่ระลึก เป็นการบูชาลูกปัดสีต่างๆ โดยเลือกเสี่ยงทายตามสถานะหรืออาชีพการงานของบุคคลนั้นๆ และถัดมาคือโซนเพชร 7 สี มณี 7 แสง ประกอบไปด้วย เจ็ดสิ่งนำโชคในโลกใต้บาดาล อันมีความหมายมงคลตามความเชื่อ

06

– ชั้นบนดิน ชั้นที่ 1 : จัดแสดงภาพพุทธประวัติและต้นโพธิ์อธิษฐาน มีความสวยงามในเชิงสัญญะ แต่ละภาพบอกเล่าถึงความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อพระพุทธศาสนา รวมถึงเรื่องราวต่างๆ ของพุทธประวัติ

– ชั้นบนดิน ชั้นที่ 2 : จัดแสดงพระวินัยปิฎก นิทรรศการ พระราชาผู้ทรงธรรม และห้องโถงแห่งธรรม

– ชั้นบนดิน ชั้นที่ 3 : จัดแสดงเรื่องราวของพระธรรมปิฎก พระธรรมขันธ์

– ชั้นดาดฟ้า : จัดแสดงรูปปั้นหลวงพ่อคูณและสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีความสูงรวม 42 เมตร

7. พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณ

สถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในวัดบ้านไร่ที่ไม่ควรพลาดชมคือ พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ตั้งอยู่ที่ศาลาการเปรียญ(หลังเดิม) จัดสร้างขึ้นเพื่อนำเสนอเรื่องราวชีวประวัติของหลวงพ่อคูณ ตั้งแต่เยาว์วัย การอุปสมบทเป็นพระภิกษุ วัตรปฏิบัติในสมณเพศที่ถือสันโดษและเป็นพระนักพัฒนา แรงศรัทธามหาชนที่มีต่อหลวงพ่อคูณ รวมทั้งการบริจาคทานจำนวนมหาศาล เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ให้แก่ประชาชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศและบางส่วนใน ต่างประเทศ

8. สิ่งที่น่าสนใจในพิพิธภัณฑ์

07

ภายในพิพิธภัณฑ์ได้สะท้อนเรื่องราวต่างๆ ของหลวงพ่อคูณ ผ่านภาพจิตรกรรมที่สร้างสรรค์ขึ้น บอกเล่าภาพชีวิตในอดีต สิ่งของเครื่องใช้จำนวนมากมาย ซึ่งผู้มีจิตศรัทธานำมาถวาย อัฐบริขารและเครื่องใช้จำเป็นในการครองสมณเพศ อีกทั้งยังจัดแสดงภาพเสมือนจริงที่จำลองบรรยากาศการออกธุดงค์ของหลวงพ่อคูณ แสดงให้เห็นถึงบารมีธรรมอันยิ่งใหญ่

08

มีประติมากรรมที่สื่อถึงผลบุญของการให้ทานอันเป็นวัตรปฏิบัติสำคัญของ หลวงพ่อคูณ มหาทานของหลวงพ่อคูณที่ได้บริจาคเงินจำนวนมหาศาล เพื่อสาธารณประโยชน์ หลวงพ่อคูณยังได้บริจาคร่างกายเพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษา แสดงให้เห็นถึงความแน่วแน่ในวิถีสันโดษอันเป็นวัตรปฏิบัติที่หลวงพ่อคูณได้ ยึดถือมาตลอด

9. มีส่วนจัดแสดงมากถึง 11 โซน

พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณ แบ่งเป็น 2 ชั้น 11 โซน ได้แก่
– โซน 1 ศรัทธามหาชน : จัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งหลวงพ่อคูณท่านั่งยองๆ ขนาดเท่าจริง มีภาพประชาชนจากภาคต่างๆ มากราบนมัสการ

– โซน 2 ภิกษุสมถะแห่งดินแดนอีสาน : จัดแสดงสิ่งของจำลองบรรยากาศเหมือนห้องนอนเดิมของหลวงพ่อคูณ

– โซน 3 กำเนิดผู้มีบุญ : จัดแสดงหุ่นจำลองตอนโยมแม่ฝันเห็นดวงแก้ว อันเป็นนิมิตหมายอันดีของผู้มีบุญที่กำลังจะถือกำเนิด

09

– โซน 4 ตั้งจิตช่วยคนพ้นทุกข์ : ภาพจิตรกรรมหลวงพ่อคูณอุปสมบทเป็นพระภิกษุ และตั้งปณิธานช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์

– โซน 5 ออกธุดงค์ : หุ่นจำลองย่อส่วนประกอบเทคนิคภาพเคลื่อนไหวและแสงเสียง จำลองเหตุการณ์เทศนาโปรดสัมภเวสี

– โซน 6 พัฒนาวัดบ้านไร่ : จัดแสดงหุ่นจำลองย่อส่วน 4 เหตุการณ์ ได้แก่ หลวงพ่อคูณสร้างโบสถ์ไม้เพื่อใช้เป็นที่ประกอบศาสนกิจของพระลูกวัด, หลวงพ่อคูณนำชาวบ้านขุดสระน้ำเพื่อเป็นที่เก็บน้ำไว้ใช้หน้าแล้ง, หลวงพ่อคูณปีนขึ้นเจิมป้ายโรงเรียนวัดบ้านไร่เพื่อความเป็นสิริมงคล และหลวงพ่อคูณใช้ยอดสากตำมวลสารศักดิ์สิทธิ์ นำมาสร้างพระเครื่องให้ศิษยานุศิษย์ได้บูชา

– โซน 7 ทำบุญกับพระเจ้าอยู่หัว : ประมวลภาพพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์

10

– โซน 8 มรดกทาน มรดกธรรม : จัดแสดงรูปหล่อสำริดหลวงพ่อคูณท่านั่งวิปัสสนา จัดแสดงวัตถุอันเป็นที่ระลึกถึงคุณูปการ เกียรติคุณของหลวงพ่อคูณที่ได้รับการเชิดชูยกย่องจากหน่วยงาน สถาบันและองค์กรต่างๆ ทั้งภายในและต่างประเทศ รวมทั้งข้อความในพินัยกรรม (มรณานุสติ)

– โซน 9 ทานบารมีทวีคูณ : แสดงงานกราฟิกบนประติมากรรมต้นไม้แห่งทานบารมี

– โซน 10 เครื่องยึดเหนี่ยวใจใฝ่ทำดี : จัดแสดงวัตถุมงคลรุ่นต่างๆ

– โซน 11 ให้แล้วรวย : จัดแสดงวีดิทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับการทำบุญทำทาน ซึ่งเป็นภาพที่พบเห็นคุ้นตาในวิถีชีวิตของคนไทยเมื่อไปทำบุญ สอดแทรกคำสอนของหลวงพ่อคูณที่พูดถึงการทำบุญมาเป็นประโยคปิดท้ายในแต่ละช่วง

11

10. การเดินทาง

จากกรุงเทพฯ ใช้ถนนพหลโยธิน (ทางหลวงหมายเลข 1) มุ่งหน้าสู่จังหวัดสระบุรี ประมาณ 75 กิโลเมตร เมื่อถึงตัวเมืองสระบุรีแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) จากนั้นมุ่งหน้าสู่จังหวัดนครราชสีมา ประมาณ 89 กิโลเมตร จะถึงเขื่อนลำตะคอง ขับตรงไปอีกประมาณ 14 กิโลเมตร จะพบกับป้ายบอกทางถนนสาย 201 ให้เลี้ยวซ้ายไปทางถนนสาย 201 ไปตามทางที่จะไปจังหวัดชัยภูมิ จากนั้นขับตรงไปมุ่งหน้าสู่อำเภอด่านขุนทด พอถึงอำเภอด่านขุนทดให้ท่านขับตรงไปอีก จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าถนนสาย 2217 จากนั้นขับตรงไป ประมาณ 11 กิโลเมตร ก็จะถึง วัดบ้านไร่

12

13

14

15

16

17

18

ที่มา : th.wikipedia.org, itti-patihan.com

ภาพ : FB watbanlai, mettapc-oknation

เรื่องน่าสนใจ