นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า การพัฒนาระบบขนส่งมวลชน จ.ภูเก็ต เป็นการเชื่อมโยงระบบขนส่งมวลชนจากสถานีรถไฟท่านุ่น จ.พังงา สู่บ้านท่าฉัตรไชย อ.ถลาง จ.ภูเก็ต โดยใช้สะพานเทพกระษัตรีมุ่งหน้าไปตามทางหลวงหมายเลข 402 (ถนนเทพกระษัตรี)
ได้ก่อสร้างไปกลางเกาะกลางถนนจนถึงแยกทางหลวงชนบท ภก.3033 ซึ่งเป็นเส้นทางไปยังหาดไม้ขาว อ.ถลาง มุ่งหน้าไปตามถนนเทพกระษัตรีเลี้ยวขวาเข้าท่าอากาศยานภูเก็ตตามทางหลวงหมายเลข 4031 ขนานไปกับแนวทางวิ่ง (รันเวย์)
โดยออกจากท่าอากาศยานภูเก็ตไปตามทางหลวงหมายเลข 4026 จนบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 402 โดยเลี้ยงขวาแล้วตรงไปจนถึงแยกถนนดอนจอมเฒ่า
จากนั้นแนวเส้นทางจะไปตามทางหลวงหมายเลข 402 จนไปบรรจบกับสามแยกบางคู โดยตรงไปทางทิศใต้ตามแนวถนนเทพกระษัตรีเข้าสู่ตัวเมืองเทศบาลนครภูเก็ต จนถึงแยกถนนรัษฎาตรงไปตามถนนภูเก็ตเลี้ยวขวา ที่สี่แยกสะพานหินผ่านหน้าวิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต
ผ่านสะพานคลองเกาะผีเข้าสู่ถนนศักดิเดชไปบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 4021 (ถนนเจ้าฟ้าตะวันออก) แล้วซ้ายสี่แยกดาวรุ่งตรงไปห้าแยกฉลอง
รวมระยะทาง 60 กิโลเมตร มีจำนวนสถานีให้บริการ 20 สถานี ได้แก่ สถานีท่านุ่น สถานีท่าอากาศยานภูเก็ต สถานีถลาง สถานีอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร สถานีเกาะแก้ว สถานีขนส่งผู้โดยสารภูเก็ตแห่งที่ 2 สถานีมหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต สถานีทุ่งคา สถานีเมืองเก่า สถานีวงเวียนหอนาฬิกา สถานีบางเหนียว สถานีห้องสมุดประชาชนจังหวัดภูเก็ต สถานีสะพานหิน สถานีศักดิเดช สถานีดาวรุ่ง สถานีวิชิต สถานีเจ้าฟ้าตะวันออก สถานีป่าหล่ายสถานีบ้านโคกโตนดและสถานีฉลอง
“โครงการระบบขนส่งมวลชน จ.ภูเก็ต ได้มีการออกแบบให้สามารถเชื่อมโยงโครงข่ายการเชื่อมต่อการเดินทางและเป็นการแก้ปัญหาจราจรติดขัดด้วยการสร้างทางเลือกในการเดินทางให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวด้วยระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพและมาตรฐาน สามารถบรรเทาปัญหาการคมนาคมขนส่งที่คับคั่งของ จ.ภูเก็ต และลดต้นทุนการขนส่งให้ถูกลงจากเดิมที่ใช้รถยนต์เป็นหลัก”
นอกจากนี้ ยังได้มีการกำหนดรูปแบบการแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟกับถนนจำนวน 189 จุด โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับรูปแบบการเดินทางเดิมในท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนสัญจรได้อย่างปลอดภัย ซึ่งมีการออกแบบไว้ 3 รูปแบบ
ได้แก่ สัญญาณไฟจราจร เครื่องกั้นและปิดจุดตัดทางผ่าน (ทดแทนด้วยการกลับรถที่ทางแยก) ซึ่งระบบขนส่งมวลชนที่เหมาะสม คือ ระบบรถไฟฟ้ารางเบา (LRT/Tramway)โดยออกแบบรองรับความเร็วสูงสุด 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีอัตราค่าโดยสารที่ 18 + 2.5 บาท/กม.
ผลการศึกษาด้านเศรษฐกิจและการเงินของโครงการฯพบว่ามีความเหมาะสมในการลงทุน โดยมีอัตราผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจร้อยละ 23.78 มูลค่าการลงทุนประมาณ 24,000 ล้านบาท หากสามารถดำเนินการได้จะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ประมาณปี 2564