เนื้อหาโดย Dodeden.com
เช่นเดียวกับการย้อมผ้าให้มีสีสันสดใสสวยงาม สีผสมอาหารก็เป็นตัวปรุงแต่งที่ช่วยเพิ่มอรรถรสให้อาหารจานนั้นดึงดูดสายตาและดูน่าทานมากขึ้น แต่รู้หรือไม่ว่าสีผสมอาหารที่วางขายทั่วๆ ไปนั้น ต่างประกอบไปด้วยสีสังเคราะห์ทางเคมีที่ใช้เป็นส่วนประกอบในการเพิ่มสีสัน และผลิตภัณฑ์อาหารหลายชนิดในปัจจุบันต่างก็ใช้สีผสมอาหารด้วยกันทั้งสิ้น เพราะนอกจากจะใช้เติมความสดใสให้อาหารบางชนิดที่ปราศจากสีแล้ว ยังถูกนํามาใช้ปรุงแต่งสีของอาหารที่อาจเกิดการสูญเสียหรือเปลี่ยนไปในระหว่างกระบวนการผลิตหรือการเก็บรักษาอีกด้วย
สีสันสวยงามแค่เคลือบยาพิษ
สีสังเคราะห์ก็คือสารแปลกปลอม ซึ่งมีส่วนประกอบทางเคมีในการให้สีสันกับอาหาร และหากคุณบริโภคมากเกินไป ย่อมทําให้เกิดการสะสมในร่างกายและไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพในระยะยาว โดยองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ พบว่า โดยประมาณ 1 ใน 10,000 คน จะเป็นลมพิษและมีอาการคันหลังจากการบริโภคอาหาร เครื่องดื่มที่ใช้สีเหลืองสังเคราะห์ ซึ่งเป็นสีที่ใช้แต่งสีในเครื่องดื่ม ของหวาน ลูกอม และผลิตภัณฑ์ อื่นๆ ปัจจุบันผู้ประกอบการบางรายแอบนําสารแต่งสีชนิดอื่นๆ มาใช้เป็นส่วนประกอบ ซึ่งอาจมีกระบวนการผลิตที่แยกเอาสารเจือปนที่เป็นอันตรายต่อร่างกายออกไม่หมด เมื่อสะสมในร่างกายปริมาณมากๆ จะส่งผลเสียต่อร่างกายได้ทั้งแบบฉับพลันหรือเรื้อรัง เช่น สารหนู ที่อาจทําให้มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย โลหิตจาง เป็นต้น
ชนิดของสีผสมอาหารที่ได้มาตรฐานจาก อย.
สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชนิดของสีผสมอาหารที่สามารถใช้ได้ในปัจจุบัน โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ สีสังเคราะห์ หมายถึง สีอินทรีย์ที่ได้จากการสังเคราะห์ ซึ่งมีลักษณะถูกต้องตามข้อกําหนด และปลอดภัยต่อการบริโภค ส่วนใหญ่มักจะมีสีสันให้เลือกหลายเฉด มีทั้งชนิดผงและสารละลายชนิดน้ำ ทําให้สะดวกต่อการใช้งานและมีราคาถูก ส่วนสีอีกชนิดหนึ่งที่มีความปลอดภัยสูงต่อร่างกายมากกว่า คือสีที่สกัดมาจากวัตถุดิบธรรมชาติ สีประเภทนี้จะมีราคาแพงกว่าสีสังเคราะห์ รวมทั้งมีสีสันให้เลือกได้จํากัด
หากไม่นับสีผสมอาหารที่สกัดได้จากธรรมชาติ ซึ่งถือว่ามีความปลอดภัยสูงและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพแล้ว วิธีสังเกตสีสังเคราะห์ที่เราสามารถทําได้ เราขอแนะนําให้ดูฉลากข้างขวดที่บ่งบอกส่วนผสม โดยสีสังเคราะห์ที่ได้มาตรฐานนั้น จะต้องไม่มีส่วนประกอบของสารที่เป็นพิษต่อร่างกาย มีปริมาณโครเมียม แคดเมียม หรือสารปรอทไม่เกิน 1 ส่วนในล้านส่วนโดยน้ำหนัก มีสารหนูไม่เกิน 5 ส่วนในล้านส่วน มีสารตะกั่วไม่เกิน 20 ส่วนในล้านส่วนโดยน้ำหนัก และมี โลหะหนักชนิดต่างๆ นอกเหนือจากตะกั่วรวมกันไม่เกิน 20 ส่วนในล้านส่วนโดยน้ำหนัก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสีสังเคราะห์ที่ได้รับการอนุญาตให้ใช้ได้ในอาหารมีเพียงสีแดง, สีเหลือง, สีเขียว และสีน้ำเงินเท่านั้นค่ะ