ที่มา: Matichon Online

สำนักข่าวเอเอฟพีและรอยเตอร์รายงานว่า ผลการศึกษาของกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) เผยแพร่เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ระบุว่า เด็กราว 300 ล้านคน หรือคิดเป็นเกือบ 1 ใน 7 ของประชากรเด็กทั่วโลก ใช้ชีวิตอยู่กับอากาศกลางแจ้งที่เต็มไปด้วยมลพิษซึ่งสกปรกกว่าระดับที่กำหนดไว้ในข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก (ฮู) โดยสามารถส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างร้ายแรง รวมถึงอันตรายต่อพัฒนาการของสมองด้วย

28

รายงานของยูนิเซฟที่ระบุว่ามลพิษในอากาศเป็นปัจจัยอันดับแรกในการเสียชีวิตของเด็ก ตีพิมพ์เผยแพร่ 1 สัปดาห์ก่อนหน้าการประชุมประจำปีว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ซึ่งจะจัดขึ้นที่ประเทศโมร็อกโกระหว่างวันที่ 7-18 พฤศจิกายนนี้ โดยยูนิเซฟซึ่งเป็นองค์กรที่ส่งเสริมสนับสนุนสิทธิและความเป็นอยู่ที่ดีของเด็ก ต้องการผลักดันให้บรรดาผู้นำโลกมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อลดมลพิษในประเทศของตน อาทิ การห้ามใช้เชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์ เพื่อประโยชน์ในด้านการพัฒนาสุขภาพความเป็นอยู่และลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อนไปด้วย

“มลพิษในอากาศเป็นปัจจัยสำคัญในการเสียชีวิตของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบราว 600,000 คนทั่วโลกในแต่ละปี และยังเป็นภัยคุกคามชีวิตและอนาคตของเด็กอีกหลายล้านคน” แอนโธนี เลก ผู้อำนวยการยูนิเซฟกล่าว และว่า “มลพิษไม่เพียงแต่เป็นอันตรายต่อปอดของเด็กที่อยู่ระหว่างการเจริญเติบโต แต่ยังสามารถลุกลามไปถึงตัวกรองกั้นระหว่างเลือดและสมอง และสร้างความเสียหายให้สมองที่กำลังพัฒนาได้อย่างถาวร ที่หมายถึงเป็นการทำลายอนาคตของเด็ก ไม่มีสังคมไหนที่หลบหนีมลพิษทางอากาศไปได้”

ยูนิเซฟใช้ภาพถ่ายดาวเทียมเป็นหลักฐานยืนยันว่ามีเด็กราว 2,000 ล้านคน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งอากาศกลางแจ้งมีระดับมลพิษเกินกว่าระดับคุณภาพอากาศที่แนะนำว่าปลอดภัยขององค์การอนามัยโลก (ฮู)

ทั้งนี้ มลพิษทางอากาศส่วนใหญ่เกิดจากควันไอเสียของยานพาหนะ เชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์ ฝุ่น การเผาขยะ และสารพิษอื่นๆ โดยเอเชียใต้เป็นภูมิภาคที่มีเด็กอยู่ในพื้นที่ที่อากาศเป็นพิษมากที่สุดถึง 620 ล้านคน ตามด้วยแอฟริกาที่ 520 ล้านคน และเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก 450 ล้านคน

ผลการศึกษาฉบับนี้ยังดูถึงเรื่องมลพิษจากอากาศภายในอาคารด้วย โดยเฉพาะที่เกิดจากการเผาไหม้ถ่านหินและไม้เพื่อปรุงอาหารและทำให้เกิดความอบอุ่น โดยทั้งมลพิษกลางแจ้งและภายในอาคารมีความเชื่อมโยงกับโรคระบบทางเดินหายใจและปอดอักเสบ ที่คิดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ 1 ใน 10 คน

เรื่องน่าสนใจ