นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ เขียนบทความไว้ในเว็บไซต์หมอชาวบ้าน ระบุว่า โรคลมอัมพาตหมายถึง อาการแขนขาซีกหนึ่งอ่อนแรง หรือเป็นอัมพาตขึ้นฉับพลัน มักมีสาเหตุได้หลากหลาย ควรรีบพาผู้ป่วยไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลทันที หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที ก็อาจจะช่วยให้หายเป็นปกติหรือลดความรุนแรงลงได้
สาเหตุ โรคนี้แบ่งเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ ซึ่งมีอาการแสดงความรุนแรง และวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน ดังนี้ ๑. สมองขาดเลือดจากการอุดตัน (ischemic stroke) พบได้ปริมาณร้อยละ ๘๐ ของโรคหลอดเลือดสมอง แบ่งเป็น ๒ กลุ่มย่อย ได้แก่
หลอดเลือดสมองตีบ (thrombotic stroke) เกิดจากภาวะหลอดเลือดแดงแข็งและตีบ ซึ่งจะค่อยๆ เกิดขึ้นทีละน้อย ในที่สุดจะมีลิ่มเลือดเกิดขึ้นไปอุดตันหลอดเลือด ทำให้เซลล์สมองตายเพราะขาดเลือด มักพบในผู้ที่เป็นโรคความดันเลือดสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง และผู้ที่สูบบุหรี่จัด
นอกจากนี้ ก็ยังอาจจะพบในผู้ที่มีรูปร่างอ้วน ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัด ผู้ที่มีญาติพี่น้องเป็นโรคนี้ ผู้หญิงที่กินยาเม็ดคุมกำเนิด (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าสูบบุหรี่ร่วมด้วย)
และผู้ที่มีอายุมาก (มากกว่า ๕๕ ปี ในผู้ชาย และ ๖๕ ปีในผู้หญิง) โรคหลอดเลือดสมองตีบ เป็นสาเหตุของโรคลมอัมพาตที่พบได้บ่อยกว่าสาเหตุอื่นๆ
ภาวะลิ่มเลือดหลุดลอยไปอุดตันหลอดเลือด สมอง (embolic stroke) มักเกิดจากมีลิ่มเลือดที่อยู่นอกสมอง หลุดลอยตามกระแสเลือดขึ้นไปอุดตันหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง ทำให้เซลล์สมองตายเพราะขาดเลือด ที่พบบ่อยคือ ลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นที่หัวใจ ในผู้ ที่เป็นโรคหัวใจ (เช่น หัวใจเต้นแผ่วระรัวผิดจังหวะ (atrial fibrillation) โรคลิ้นหัวใจรั่ว โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เป็นต้น
๒. หลอดเลือดสมองแตก (hemorrhagic stroke) พบได้ประมาณร้อยละ ๒๐ ของโรคหลอดเลือดสมอง ถือว่าเป็นภาวะที่มีอันตรายร้ายแรง อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลารวดเร็วได้ มีอัตราตายโดยเฉลี่ยร้อยละ ๔๐-๕๐
ถ้าพบในผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีสาเหตุจากโรคความดันเลือดสูงที่เป็นรุนแรงเนื่องจากขาดการรักษาอย่างจริงจัง หรือเป็นโดยไม่รู้ตัวเนื่องจากไม่มีอาการผิดปกติ (เปรียบเหมือนภัยมืดที่ซ่อนอยู่ในร่างกาย) แต่ถ้าพบในวัยหนุ่มสาวหรือวัยกลางคน ก็อาจมีสาเหตุจากการมีหลอดเลือดแดงที่ผิดปกติในสมอง ซึ่งมักเป็นมาแต่กำเนิด และมาแตกเอาตอนโตขึ้น ทำให้มีเลือดออกในสมอง
บางรายอาจเกิดจากภาวะการแข็งตัวของเลือด บกพร่อง เช่น เป็นโรคตับแข็ง (ซึ่งไม่สามารถสร้างสารกระตุ้นการแข็งตัวของเลือด) เป็นโรคเลือดบางชนิดที่ทำให้เลือดออกง่าย กินยาแอสไพรินเป็นประจำเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดหัวใจและสมอง แต่มีผลข้างเคียงคือ ทำให้มีเลือดออกในสมองได้
บางรายอาจเกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอ-ฮอล์จัด หรือเนื้องอกในสมองที่มีเลือดออก
อาการ ๑. ผู้ป่วยที่เป็นโรคลมอัมพาต เนื่องจากหลอด เลือดสมองตีบ มักมีประวัติเป็นโรคความดันเลือดสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่จัด ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัด อายุมาก อ้วน หรือมีญาติพี่น้องเป็นโรคอัมพาต แล้วอยู่ๆ ก็มีอาการแขนขาซีกหนึ่งอ่อนแรงลงทันทีทันใด
อาจเกิดขึ้นขณะตื่นนอน ขณะเดินหรือทำงานอยู่ก็รู้สึกทรุดล้มลงไป (อาจทำให้เข้าใจผิดว่า อาการล้มลงเป็นต้นเหตุทำให้เป็นอัมพาต) ผู้ป่วยอาจจะมีอาการแขนขาชา เกร็งตามแขนขา ตามัว มองเห็นภาพซ้อน พูดไม่ได้หรือพูดอ้อแอ้ ปากเบี้ยว หรือกลืนไม่ได้ร่วมด้วย
บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ เห็นบ้านหมุน หรือมีอาการสับสนนำมาก่อนที่จะมีอาการอัมพาตของแขนขา ผู้ป่วยมักมีอาการผิดปกติที่ซีกใดซีกหนึ่งของร่างกายเพียงซีกเดียว กล่าวคือ ถ้าการตีบตันของ หลอดเลือดเกิดขึ้นในสมองซีกขวา ก็จะเกิดอัมพาตของแขนขาซีกซ้าย แต่ถ้าการตีบตันของหลอดเลือดเกิดขึ้นที่สมองซีกซ้าย ก็จะมีอาการอัมพาตของแขนขาซีกขวา และบางรายอาจมีอาการพูดไม่ได้ร่วมด้วย (เนื่องจากศูนย์ควบคุมการพูดอยู่ในสมองซีกซ้ายถูกกระทบด้วย)
ผู้ป่วยส่วนมากจะรู้สึกตัวดี หรืออาจจะซึมลงเล็กน้อย ยกเว้นในรายที่เป็นรุนแรง อาจมีอาการหมดสติได้ หากไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที อาการอัมพาต มักเป็นอยู่นานกว่า ๒๔ ชั่วโมง และอาจจะเป็นอยู่นานเป็นแรมเดือน แรมปี หรือตลอดชีวิต
บางรายอาจจะมีอาการอัมพาต ประมาณ ๒-๓๐ นาที (น้อยรายอาจเป็นนานเป็นชั่วโมง ไม่เกิน ๒๔ ชั่วโมง) และหายได้เองโดยไม่ได้รับการรักษาใดๆ อาการดังกล่าวเกิดจากสมองขาดเลือดชั่วขณะ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นเป็นๆ หายๆ เป็นอาการเตือนนำมาก่อน เป็นโรคอัมพาตประมาณ ๖ เดือน ถึง ๑ ปี
๒. ผู้ป่วยที่เป็นโรคลมอัมพาตเนื่องจากลิ่มเลือด หลุดลอยไปอุดตันหลอดเลือดสมอง จะมีอาการแบบ เดียวกับอาการดังกล่าวข้างต้น แต่อาการอัมพาตมักเกิดขึ้นฉับพลันทันที โดยไม่มีอาการเตือนมาก่อน ผู้ป่วย อาจมีประวัติเป็นโรคหัวใจ หรือเคยผ่าตัดหัวใจมาก่อน
๓. ผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตเนื่องจากหลอดเลือดสมองแตก อาการมักเกิดขึ้นฉับพลันทันที โดยไม่มีสิ่งบอกเหตุล่วงหน้า บางรายอาจเกิดอาการขณะทำงาน ออกแรงมากๆ หรือขณะร่วมเพศ ผู้ป่วยอาจบ่นปวดศีรษะ รุนแรงหรือปวดศีรษะซีกเดียว อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
และมักมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย แล้วต่อมาก็มีอาการปากเบี้ยวพูดไม่ได้ แขนขาอ่อนแรง อาจชักและหมดสติในเวลาอันรวดเร็ว
การแยกโรค อาการแขนขาชาหรืออ่อนแรง มักมีสาเหตุจากความผิดปกติของสมองและไขสันหลัง นอกจากความผิดปกติของหลอดเลือดสมองแล้ว ยังอาจเกิดจากเนื้องอกในสมองหรือไขสันหลัง การติดเชื้อในสมองหรือไขสันหลัง การได้รับบาดเจ็บที่สมองหรือไขสันหลัง อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเกิดจากภาวะใดก็ควรส่งตัว ผู้ป่วยไปที่โรงพยาบาลทันที
การวินิจฉัย แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการแสดงเป็นหลักและจำเป็นต้องตรวจหาสาเหตุ โดยการถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจคลื่นหัวใจ เจาะหลัง และอื่นๆ
การดูแลตนเอง ถ้าพบมีอาการแขนขาเป็นอัมพาต ควรรีบพาผู้ป่วย ไปโรงพยาบาลทันที เพื่อตรวจหาสาเหตุและให้การรักษาแต่เนิ่นๆ หลังจากได้รับการรักษาจนพ้นระยะอันตราย
หรือสามารถกลับไปอยู่บ้านได้ ก็ควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำ ของแพทย์อย่างเคร่งครัด และติดตามรักษาอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยควรงดบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันไม่ให้อาการกำเริบซ้ำ
การรักษา แพทย์มักจะรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล และให้การรักษาตามสาเหตุ เช่น ๑. ถ้าพบว่าเกิดจากสมองขาดเลือดจากลิ่มเลือดอุดกั้น แพทย์อาจให้ยาละลายลิ่มเลือด ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ เพื่อเปิดทางให้เลือดไหลไปเลี้ยงสมอง ทำให้เซลล์สมองไม่ตาย ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นคืนสู่ปกติได้เร็ว
ยานี้จะได้ผลดีต้องให้ภายใน ๓ ชั่วโมงหลังมีอาการ หลังอาการคงที่แล้ว แพทย์จะให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (นิยมให้แอสไพริน ขนาด ๗๕-๓๒๕ มก.กินทุกวัน) ให้ยาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ
เช่น ยาลดความดันเลือด ยาเบาหวาน ยาลดไขมันในเลือด เป็นต้น ทำการฟื้นฟูร่างกายด้วยการทำกายภาพ บำบัด ในรายที่ตรวจพบมีหลอดเลือดแดงที่คอตีบ อาจให้การรักษาด้วยการผ่าตัดหลอดเลือด หรือใช้บอลลูนขยายหลอดเลือด
๒. ถ้าพบว่าเกิดจากหลอดเลือดสมองแตก ก็ให้การรักษาแบบประคับประคอง เช่น ให้น้ำเกลือใส่ท่อหายใจ และเครื่องช่วยหายใจ ควบคุมความดันเลือด (ถ้าสูงรุนแรง) ในรายที่มีก้อนเลือดในสมอง อาจจำเป็น ต้องทำการผ่าตัดสมองแบบเร่งด่วน ส่วนในรายที่มีเลือดออกเพียงเล็กน้อย และไม่กดถูกสมองส่วนที่สำคัญ ก็อาจไม่ต้องผ่าตัด เมื่อรักษาจนผู้ป่วยปลอดภัยแล้วก็จะทำการฟื้นฟูร่างกายด้วยการทำกายภาพบำบัด
ภาวะแทรกซ้อน
อาจกลายเป็นโรคอัมพาตเรื้อรัง ซึ่งมีความรุนแรงมากน้อยต่างกันไป ขึ้นกับความรุนแรง และสภาพร่างกายของผู้ป่วย ในรายที่ลุกนั่งไม่ได้ หรือนอนแบ็บอยู่บนเตียงนอน อาจเกิดแผลกดทับที่ก้น หลัง หรือข้อต่อต่างๆ บางรายอาจสำลักอาหารเกิดการอุดกั้นของทางเดินหายใจหรือปอดอักเสบได้ อาจเป็นโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบได้ง่าย หรือเป็นแผลถลอกที่กระจกตาดำ นอกจากนี้ อาจมีความเครียดทางจิตใจ หรือโรคซึมเศร้าในผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
การดำเนินโรค ในรายที่เกิดจากสมองขาดเลือดจากลิ่มเลือด อุดตัน ถ้ามีอาการเล็กน้อย และได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่แรก ก็อาจหายเป็นปกติ หรือฟื้นคืนสภาพได้จนเกือบเป็นปกติ จนช่วยตนเองได้ พูดได้ เดินได้ แต่อาจใช้มือได้ไม่ถนัด
ในรายที่เป็นรุนแรงหรือได้รับการรักษาไม่ทันท่วงที ก็มักจะมีความพิการหรือบกพร่องทางร่างกาย ซึ่งต้องการการดูแลจากผู้อื่น นั่งรถเข็น หรือใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน
ส่วนน้อยที่จะพิการรุนแรง จนต้องนอนแบ็บอยู่บน เตียง และต้องการผู้ดูแลตลอดเวลา หรือรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ขณะพักรักษาอยู่ในโรงพยาบาล โดยทั่วไป การฟื้นตัวของร่างกายมักจะต้องใช้เวลา ถ้าจะดีขึ้นก็จะเริ่มมีอาการดีขึ้นให้เห็นภายใน ๒-๓ สัปดาห์
และจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถช่วยตนเองได้ หรือหายจนเกือบเป็นปกติ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นหลัง ๖ เดือนไปแล้ว ก็มักจะพิการอย่างถาวร ซึ่งมากน้อยขึ้นกับความรุนแรงของโรค และสภาพร่างกายของผู้ป่วย ในรายที่เกิดจากหลอดเลือดสมองแตก ผลการ รักษาขึ้นกับตำแหน่ง และปริมาณของเลือดที่ออก สภาพของผู้ป่วย (อายุ โรคประจำตัว) และการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ
ถ้าเลือดออกในก้านสมอง จะมีอัตราการตายสูงถึงร้อยละ ๙๐-๙๕ ถ้าก้อนเลือดขนาดใหญ่ และแตกเข้าโพรงสมอง จะมีอัตราการตายถึงร้อยละ ๕๐
ถ้าเลือดออกที่บริเวณผิวสมอง หรือก้อนเลือดขนาด เล็ก และไม่แตกเข้าโพรงสมองจะมีอัตราการตายต่ำ
ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง หากรอดชีวิตก็มักจะมีความพิการอย่างถาวร บางรายอาจจะกลายสภาพเป็นผัก หรือคนนิทรา อยู่นานหลายปี ในที่สุดมักจะเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบ โรคติดเชื้อ ต่างๆ
ส่วนผู้ป่วยที่มีอายุน้อย ซึ่งมักเกิดจากการแตกของ หลอดเลือดผิดปกติมาแต่กำเนิด ถ้าแตกตรงตำแหน่ง ที่ไม่สำคัญ และได้รับการรักษาอย่างถูกต้องมาตั้งแต่แรก มักจะสามารถฟื้นหายได้เป็นปกติ
ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดสมอง แม้ว่าร่างกายจะฟื้นตัวได้ดี แต่ก็คงมีโรคลมชักจากแผลเป็นในสมอง แทรกซ้อนตามมาได้ ซึ่งต้องกินยากันชักควบคุมอาการตลอดไป
การป้องกัน งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัด ลดอาหารที่มีไขมันมาก กินผักและ ผลไม้ให้มากๆ ถ้าน้ำหนักเกินควรลดน้ำหนัก และหมั่น ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อป้องกันไม่ให้หลอดเลือดแดงแข็งและตีบ
หมั่นตรวจวัดความดันเลือด เบาหวาน ภาวะ ไขมันในเลือด ถ้าพบว่าผิดปกติ ควรรักษาอย่างจริงจัง เพื่อควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งจะลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอัมพาต
ถ้าเคยมีอาการอัมพาตชั่วคราวจากสมองขาดเลือดชั่วขณะ หรือเคยเป็นโรคหัวใจ เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคลิ้นหัวใจรั่ว โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์ และกินยาแอสไพริน หรือยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด ตามแพทย์สั่งเป็น ประจำเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดลิ่มเลือดอุดตัน
โรคนี้พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยความดันเลือดสูง เบาหวาน ไขมันเลือดสูง คนอ้วน ผู้ที่สูบบุหรี่ หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัด
โรคนี้นับว่าเป็นสาเหตุของความพิการทางร่างกาย ที่พบได้บ่อยในวัยกลางคนและวัยสูงอายุ
ที่มา www.doctor.or.th