ทุกวันนี้คนไทยหลายคนมีโรครุมเร้ามากมายอันเนื่องมาจากการใช้ชีวิตประจำวันที่เอื้อให้เกิดความเครียด จนหลาย ๆ คนกลายเป็นโรคซึมเศร้าโดยไม่รู้ตัว อีกทั้งวิถีชีวิตที่มีความเร่งรีบตลอดเวลา จนทำให้ไม่มีเวลาออกกำลังกายและดูแลรักษาสุขภาพ ในทุก ๆ ปีกระทรวงสาธารณสุขจะออกมาประกาศโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่พบมากที่สุดในคนไทย 5 อันดับ ซึ่งแน่นอนว่าอันดับหนึ่งที่ครองแชมป์ติดต่อกันมายาวนานหลายปีซ้อน ได้แก่ โรคมะเร็ง

โรคมะเร็ง โรคมะเร็งเป็นโรคยอดฮิตที่คร่าชีวิตคนไทยเป็นอันดับหนึ่งมายาวนาน โดยกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยข้อมูลอันน่าตกใจว่าโดยเฉลี่ยในทุก ๆ ชั่วโมง จะมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งถึง 6 คน แม้ว่าในปัจจุบันวิวัฒนาการเครื่องมือแพทย์และยารักษาโรคจะพัฒนาก้าวหน้าไปมาก แต่คนส่วนใหญ่มักละเลยอาการเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่แสดงถึงความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็ง แล้วจึงมาพบแพทย์เมื่อมะเร็งอยู่ในขั้นลุกลามและยากต่อการรักษา โดยมะเร็งที่พบมากที่สุดในชายไทย ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งปอด และมะเร็งลำไส้ใหญ่ ส่วนมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้หญิง ได้แก่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม และมะเร็งตับ

โรคเบาหวาน โรคยอดฮิตของคนไทย รองลงมาจากโรคมะเร็ง โรคเบาหวานมีสาเหตุมาจากการที่ร่างกายสร้างฮอร์โมนอินซูลินมากเกินไป จนทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ร่างกายจึงไม่สามารถใช้พลังงานจากน้ำตาลได้อย่างเหมาะสม และตับอ่อนทำงานผิดปกติ จึงทำให้มีระดับน้ำตาลคงเหลืออยู่ในกระแสเลือดสูงนั่นเอง ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานจะมีอาการเริ่มต้น คือ ปัสสาวะบ่อย อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ดื่มน้ำเยอะ เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทรายสาเหตุ เป็นแผลง่าย เมื่อเป็นแล้วหายยยากหรือมักติดเชื้อ อักเสบ และลุกลาม ผู้ที่มีอาการดังกล่าวนี้ควรหมั่นเช็กความผิดปกติของร่างกายและพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจและการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่เนิ่น ๆ ส่วนหนึ่งของสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมาจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกต้อง ชอบทานอาหารหวานหรืออาหารที่มีไขมันสูง และไม่ออกกำลังกาย เพราะฉะนั้นผู้ที่มีภาวะเสี่ยงควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารและหมั่นออกกำลัง ควบคุมน้ำหนักอย่างสม่ำเสมอ

โรคความดันโลหิตสูง ปกติคนธรรมดาจะมีความดันเฉลี่ยอยู่ที่ 90-119/60-79 มิลลิเมตร/ปรอท ส่วนผู้ที่อยู่ในภาวะความดันโลหิตสูง จะมีความดันสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตร/ปรอท โรคความดันโลหิตสูงเป็นบ่อเกิดของโรคหลอดเลือดในสมอง โรคหัวใจ โรคไต ฯลฯ เนื่องจากเมื่อมีความดันโลหิตสูง หลอดเลือดจะแข็งและตีบ ส่งผลให้เกิดปัญหาเมื่อหัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย สาเหตุที่ก่อให้เกิดความดันโลหิตสูงมีทั้งชนิดทราบและไม่ทราบสาเหตุ อาทิ พันธุกรรม การทำงานที่ผิดปกติของฮอร์โมน โรคอ้วน เนื้องอกในสมอง และโรคเครียด สาเหตุหลักที่พบมากในปัจจุบัน อาการะยะเริ่มต้นของโรคความดันโลหิตสูง ได้แก่ อาการวิงเวียนศีรษะ เจ็บหน้าอก ใจสั่น ปวดศีรษะติดต่อกันหลายวันโดยไม่ทราบสาเหตุ ผู้ที่มีอาการควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาด้วยยา ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน และพยายามไม่เครียด เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนที่ตามมาจากโรคความดันโลหิตสูง

โรคหัวใจ คำว่าโรคหัวใจนั้นมีความหมายค่อนข้างกว้าง เนื่องจากหหัวใจเป็นอวัยวะที่มีความซับซ้อนและมีส่วนประกอบที่หลากหลาย อาทิ เยื่อหุ้มหัวใจ หลอดเลือด และกล้ามเนื้อหัวใจ เป็นต้น โดยอาการที่พบมากในคนไทย ได้แก่ โรคหัวใจขาดเลือด อันเนื่องมาจากสาเหตุต่าง ๆ อาทิ หลอดเลือดแดงตีบและไขมันอุดตันในเส้นเลือด ผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีอาการน่าเป็นห่วงและควรไปพบแพทย์โดยด่วน ได้แก่ ผู้ที่มีอาการแน่นหน้าอก อึดอัด ขณะออกกำลังกาย เดินเร็ว ขึ้นบันได เมื่อออกแรงทำกิจกรรมต่าง ๆ จะมีอาการเหนื่อยง่าย หอบ หายใจเร็ว ในรายที่รุนแรงอาจมีอาการหน้ามืดและหมดสติ

โรคหลอดเลือดสมอง คือการที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง เนื่องจากหลอดเลือดตีบ อุดตัน หรือแตก เนื้อเยื่อสมองจึงถูกทำลาย ส่งผลให้การทำงานของสมองหยุดชะงัก สาเหตุที่พบมากที่สุดที่ก่อให้เกิดภาะวะสมองขาดเลือด ได้แก่ การเกิดลิ่มเลือดไหลไปอุดตันหลอดเลือดสมอง หรืออาจเกิดลิ่มเลือดในสมองแล้วมีขนาดใหญ่ขึ้นจนอุดตันหลอดเลือด อีกสาเหตุหนึ่งเกิดจากไขมันสะสมในเส้นเลือด ซึ่งทำให้เส้นเลือดตีบจึงทำให้ประสิทธิภาพในการลำเลียงเลือดไปเลี้ยงสมองลดลง

ส่วนโรคหลอดเลือดสมองแตกนั้นส่วนมากพบในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง หลอดเลือดเมื่อเจอความดันจึงโป่งพองแล้วแตกออก ทำให้เลือดออกในสมอง ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ การป้องกันเบื้องต้นคือหมั่นตรวจเช็กอาการและพบแพทย์เป็นประจำ หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด รักษาระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยป้องกันอาการของโรคหลอดเลือดในสมองเบื้องต้นได้

ปัจจุบันกระแสรักสุขภาพที่กำลังมาแรงมีส่วนช่วยในการป้องกันโรคภัยต่าง ๆ มากมาย ทั้งการออกกำลังกายที่หลากหลายขึ้น เมนูอาหารคลีนที่ปราศจากไขมันและน้ำตาล คนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ ความเข้าใจในปัจจัยเสี่ยงของโรคมากขึ้น รวมทั้งเทคโนโลยีและวิวัฒนาการในการรักษาโรคที่มีประสิทธิภาพ สิ่งเหล่านี้มีส่วนช่วยในการลดอัตราผู้ป่วยได้มากขึ้น

ผู้เขียน ภคินี iPrice Thailand

เรื่องน่าสนใจ