วันนี้ (29 กันยายน 2559) ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมผู้ดำเนินการสปากว่า 600 คนทั่วประเทศ
ทั้งนี้ เพื่อชี้แจงแนวทางการบริหารจัดการสปาคุณภาพ และการขอใบอนุญาตเป็นผู้ดำเนินการสปาตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 เพื่อส่งเสริมคุณภาพ มาตรฐาน การบริหารจัดการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพประเภทสปา ให้ปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกันทุกแห่ง
อธิบดีกรม สบส. ให้สัมภาษณ์ว่า ในรอบ 2 วันหลังกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ มีเจ้าของสปา นวดเพื่อสุขภาพ และนวดเพื่อเสริมความงาม ยื่นขออนุญาตประกอบการที่กรม สบส.กว่า 600 ราย กว่าร้อยละ 70 เป็นกิจการนวด
เช่น นวดตัว นวดเท้า ขณะนี้คาดว่าทั่วประเทศจะมีผู้ยื่นเรื่องขออนุญาตไม่ต่ำกว่า 4,000 ราย กิจการที่อยู่ระหว่างขออนุญาตจากกรม สบส. และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สามารถเปิดบริการได้ตามปกติ
โดยให้แสดงเอกสารแทนใบอนุญาตติดที่โซนบริการ เพื่อยืนยันคุณภาพ มาตรฐานของสถานประกอบการแก่ผู้รับบริการทั้งไทยและต่างประเทศ โดยการออกใบอนุญาตใช้เวลาประมาณ 60 วัน และกำหนดต่ออายุใบอนุญาตทุกๆ 5 ปี
สำหรับสปาซึ่งเป็นกิจการขนาดใหญ่ให้บริการเสริมสร้างสุขภาพด้วยน้ำและนวดร่างกายเป็นหลัก และบริการหลายเสริมอีกหลายประเภท
เช่น การใช้ความร้อน-เย็น การดูแลบำรุงผิวกาย ผิวหน้า การออกกำลังกาย โยคะ เป็นต้น จะต้องมีการควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยอย่างใกล้ชิด โดยผู้ดำเนินการที่มีความรู้ ความสามารถจริง โดยจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ หรือผ่านการอบรมหลักสูตรผู้ดำเนินการ สปาเพื่อสุขภาพ 100 ชั่วโมง
จากสถานศึกษาที่ได้รับการรับรอง จากกรม สบส. 5 แห่ง ได้แก่ 1.มหาวิทยาลัยมหิดล 2.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 3.วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สุราษฎร์ธานี 4.วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต และ5.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ประการสำคัญต้องไม่เคยรับโทษในคดีต้องห้าม 5 คดี ได้แก่ ค้ามนุษย์ ค้าประเวณี ยาเสพติด คดีทางเพศและคดีเกี่ยวกับทรัพย์ และต้องผ่านการทดสอบความรู้ความสามารถจากกรม สบส.
นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า ขณะนี้สปาในประเทศไทยกำลังได้รับความนิยมจากชาวต่างประเทศมากขึ้น จากสถิติของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในปี 2558 พบว่า ธุรกิจสปามีสร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 31,000 ล้านบาท และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 15 ต่อปี
โดยทั่วโลกมี สปาทั้งหมด 41,458 แห่ง อยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมากที่สุด 32,451 แห่ง รองลงมา คือ ยุโรป 32,190 แห่ง ซึ่งตลาดธุรกิจสปาของประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 5 ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รองจากญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ และอินเดีย เหตุผลหลักที่ใช้บริการสปา เพื่อการผ่อนคลาย สุขภาพ
นายแพทย์ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล ผู้อำนวยการกองสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย การบริหารจัดการ และการให้บริการธุรกิจสปาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชนมาให้ความรู้แก่ผู้ดำเนินการสปาทั้งเก่า-ใหม่ นำไปใช้ต่อยอดพัฒนาคุณภาพ มาตรฐานสปา