ที่มา: matichon

ช่วงราวๆ 5 –  6 ปีมาจนถึงปัจจุบันนี้ มักจะพบว่าบรรดากลุ่มคนข้ามเพศหลากหลายกลุ่มชอบนัดกันไปดู หมอลำ กันมากมาย ซึ่งนิยมอยู่สองคณะ ได้แก่ หมอลำคณะระเบียบวาทศิลป์ , หมอลำคณะประถมบันเทิงศิลป์ 

ทั้งนี้ มีผู้กำลังพยายามหาคำตอบมากมายในปี 2559 นี้ จากการสืบค้นงานวิจัยพบว่าได้เคยมีนักวิชาการวิจัยและตีพิมพ์ใน นสพ.มติชน เรื่อง “เวทีหมอลำกับชีวิตกะเทยอีสาน”  ในปี 2555 ซึ่งเป็นงานวิจัยหนึ่งใน 6 ชิ้นงาน โครงการพหุวัฒนธรรมกับความหลากหลายทางเพศ ที่มี ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ เป็นหัวหน้าโครงการ

ผศ.ดร.พรเทพ แพรขาว อาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เจ้าของงานวิจัย ได้มาเจาะลึกชีวิตของกะเทยอีสานที่ใช้ชีวิตพันผูกอยู่กับเวทีหมอลำ ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ได้อย่างน่าสนใจ

อาจารย์พรเทพ อธิบายถึงการเลือกใช้คำว่า “กะเทย” แทน “สาวประเภทสอง/หญิงข้ามเพศ” ว่าไม่ได้มีเจตนาที่จะตีตราตอกย้ำแต่อย่างใด แต่ “กะเทย” เป็นคำที่กะเทยอีสานใช้ และภูมิใจนำเสนอ พร้อมกับเปิดคลิปการแสดง (ตลก) ของกะเทยในคณะหมอลำอีสานชื่อดังคณะหนึ่งประกอบ เพื่อให้เห็นภาพของ “กะเทยอีสาน” ที่ไม่มีการเสริมแต่งใดๆ ทั้งสิ้น มีเพียงผมที่ยาวและจริตจะก้านเป็นหญิง

1185188_588326851229598_1634901860_n

สิ่งแรกที่ต้องพูดคือ “การแสดงหมอลำ” และ “กะเทย” ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกัน หมอลำไม่ได้มีส่วนทำให้กะเทยเพิ่มมากขึ้น แต่เป็นกะเทยอีสานเองที่ “สร้างชุมชน” ขึ้นมาทับซ้อนบนพื้นที่งานแสดงหมอลำ

ซึ่ง “ชุมชน” ที่ว่าเกิดจากการไปพบปะ ไปเที่ยว ไปเต้น ไปเฮฮากัน

หมอลำเป็นการแสดงประจำภูมิภาคท้องถิ่นอีสาน จะมีในงานบุญตั้งแต่บุญเดือนสิบเดือนสิบเอ็ด ไปจนถึงบุญเดือนห้าคือบุญบั้งไฟ

อาจารย์พรเทพ เล่าถึงวิถีของคนอีสานเมื่อก่อนจากการพูดคุยกับผู้เฒ่าผู้แก่ในพื้นที่ว่า เนื่องจากสมัยก่อนอีสานไม่ค่อยมีแหล่งบันเทิงมากนัก ฉะนั้น หลังฤดูเก็บเกี่ยวแล้ว สถานที่ซึ่งคนส่วนใหญ่จะใช้เป็นที่พบปะเจอะเจอกันคือพื้นที่แสดงหมอลำ ที่นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่มีการถ่ายทอดวัฒนธรรมกลุ่มย่อยจากรุ่นสู่รุ่น จากกลุ่มสู่กลุ่ม

15078801_577830875740251_6380510546304476315_n

“วิธีการเบิ่งหมอลำของกะเทยอีสานเมื่อสิบปีก่อนหรือเก่าๆ เลย จะใช้วิธีบอกต่อแล้วจดลงบนปฏิทินอีกที ถ้าเราไปดูที่ปฏิทินจะเห็นว่ามีการวงไว้ว่าวันนี้เป็นคณะอะไร ไปเล่นบ้านไหน ไปจ่ายตลาดก็จะบอกต่อกัน

ณ ปัจจุบัน จากการเก็บข้อมูลพบว่าใช้โทรศัพท์หากัน แล้วก็เข้าไปดูเว็บไซต์หมอลำดอทคอม ซึ่งคนที่นิยามตัวเองว่า “เกย์” จะใช้วิธีนี้มากกว่าคนที่นิยามตัวเองว่ากะเทย”

จากการลงพื้นที่ทำวิจัยเกี่ยวกับกะเทยมาหลายครั้ง อาจารย์พรเทพ วิเคราะห์ว่า กะเทยอีสานจะเข้าครอบครองพื้นที่ ( การใช้พื้นที่ร่วมกันระหว่างหมอลำกับกะเทย ) หมอลำ

15267584_583549275168411_782844667712818381_n

“หลังฮ้าน” (“ฮ้าน” หมายถึง เวที) โดยเป็นครูสอนเต้น หางเครื่อง ทำชุด ฯลฯ

ส่วนบนฮ้านนั้น ถ้าเทียบกับหมอลำวงใหญ่ ที่มีสมาชิกกว่า 100 ชีวิต อาจมีผู้หญิงเพียง 20-30% ที่เหลือเป็นกะเทย

พื้นที่การแสดงหมอลำจึงเป็นพื้นที่เสรีภาพของกะเทยอีสาน ซึ่งคำว่า “เสรี” นั้น อาจารย์พรเทพยกตัวอย่างการแต่งตัวที่สะท้อนตัวตนของกะเทย

“กะเทยอีสานจะแต่งตัวภายใต้นิยามว่า “ฟ้าขาด” หมายถึง การเปรียบท้องฟ้าดังผืนผ้าใบที่ห่อหุ้มโลกแล้วมันขาดทะลุออกไปนอกโลก หรือนัยของคำว่าล้ำ, เกิน เช่น บางทีใส่จี-สตริง บางทีใส่ชุดว่ายน้ำ ฯลฯ มาเที่ยวในงานแสดงหมอลำ คือแต่งให้เกินความจริงเพื่อจะบอกว่า ฉันเป็นกะเทย”

เขาไปทำอะไรที่หน้าฮ้านหมอลำ?  อาจารย์พรเทพ ผู้สั่งสมประสบการณ์ชีวิตกะเทยอีสานจนได้เป็นงานวิจัยหลายต่อหลายชิ้น อธิบายว่า ในกรณีของกะเทย จะไปงานหมอลำเพื่อเต้น พบปะเพื่อนๆ กะเทยด้วยกัน ผู้บ่าวมากหลาย และ “แล่นไม้”

ซึ่ง “แล่นไม้” ที่ว่า “แล่น” ก็คือ “วิ่ง” ส่วน “ไม้” หมายถึง “ผู้ชาย” เพราะในงานหมอลำมี “ผู้บ่าว” เยอะมาก

“ต้องบอกก่อนว่า กะเทยอีสาน ไม่ได้รวยอะไร แต่เป็นชีวิตที่ใช้อยู่ในชนบท ตอนกลางวันรับจ้างล้างจาน แบกข้าวสาร คนงานก่อสร้าง ทำนาทำไร่ ฯลฯ คนที่ทำงานแบบนี้สภาพร่างกายจึงไม่ได้สวยเหมือนมิสทิฟฟานี”

ผู้วิจัยคนเดิมอธิบายเพิ่มเติมว่า เวลาที่กะเทยอีสานบอกว่า “คืนนี้ไปเบิ่งหมอลำ” นั้นฟังดูดีมาก แต่สิ่งที่เขาให้ความหมายกับหมอลำคือ “งานบุญกะเทย” นั่นคืองานหมอลำเป็นจุดรวมตัวของกะเทย ซึ่งบางคนให้ความหมายว่า “เทศกาลกินไม้” หรือ “เทศกาลแต่งหญิง” เพราะในชีวิตจริงกะเทยอีสานจะใส่เสื้อยืดกางเกงวอร์มทำงานรับจ้างทั่วไป ไม่ได้แต่งเป็นหญิง

สัญลักษณ์เพียงอย่างเดียวที่บ่งบอกความเป็นกะเทย คือ ผมยาว ฉะนั้น เมื่อถึงเทศกาลนี้แต่ละคนจะแต่งตัวแบบ “ฟ้าขาด”

12047020_1038483766213902_1852460374721122285_n

บางคนถึงกับบอกว่า ช่วงที่มีหมอลำ เฝ้าแต่รอคอยเวลาค่ำอย่างใจจดใจจ่อ ไม่มีสมาธิในการทำงาน เพราะนึกถึงแต่ความสนุกความสุขที่จะได้ออกไปเจอเพื่อน ได้แต่งตัวเด่นๆ หลายครั้งเมื่อถามว่าหมอลำเล่นเรื่องอะไร-ไม่รู้ แต่สนุกตรงที่หลังเวที เพราะถ้าวงหมอลำซิ่ง อย่างวงวาเลนไทน์ หรือวงบัวผัน ที่มีแดนเซอร์นุ่งน้อยห่มน้อยเต้นเยอะๆ ผู้ชายจะชอบไป กะเทยก็จะชอบไป

ฉะนั้น พื้นที่หมอลำจึงเป็นที่แสดงตัวตนของกะเทย มีการถ่ายทอดวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่น โดยบอกว่า ถ้าอยากได้ผู้ชายจะต้องมีการเลี้ยงเหล้าผู้ชาย ซึ่งถ้าเป็นเมื่ออดีตจะเป็นการเลี้ยงถั่วต้ม เลี้ยงก๋วยเตี๋ยว ปัจจุบันเป็นเหล้าเป็นบุหรี่เป็นอะไรต่อมิอะไร ฉะนั้น การแลกเปลี่ยนมันเกิดขึ้นมาตลอด

อาจารย์พรเทพออกตัวว่า ที่พูดมานั้นไม่ได้หมายถึงการมีเพศสัมพันธ์อย่างเดียว เพราะแค่มาจีบมากอดมาพูดคุยก็มีความสุขแล้ว

ทางด้านผู้บ่าวนั้น ก็มีการบอกต่อวัฒนธรรมว่า ถ้าจะไปเที่ยวหมอลำ ไม่ต้องมีทุนทรัพย์มากเลย ขอให้มีการออกไปกับกะเทยก็จะสามารถได้เหล้า บุหรี่ มาต่อความสุข ซึ่งศัพท์ในกลุ่มจะใช้คำว่า “จัดเจ้” (จัดให้ “เจ้”)

“การจัดเจ้” ก็คือ การเข้าไปเต้นใกล้ๆ กะเทย ไปแซวกะเทย ซึ่งผู้บ่าวเองจะบอกว่า กะเทยไม่ต้องสวยเลย ใครก็ได้ กะเทยแก่ก็ได้ กะเทยสาว กะเทยอ้วน จัดเจ้ได้หมด เพราะเป้าประสงค์เป็นอย่างอื่น ขณะที่กะเทยอีสานจะภูมิใจว่ามีผู้ชายมาจัดเจ้ มันก็จะเป็นวงจรในลักษณะนี้

กลับมาที่เหตุผลของการแต่งแบบ “ฟ้าขาด” กะเทยที่ไปงานหมอลำจะแต่งตัวแบบ “ฟ้าขาด” ด้วยเหตุผลที่ว่า “เพื่อให้ผู้บ่าวหยิบไม่ผิด” คำว่า “สวย” ของกะเทยอีสาน จึงหมายถึง ความมั่นใจ

อาจารย์ผู้วิจัยบอก และอธิบายจากการลงพื้นที่พูดคุยกับกะเทยอีสานมาหลายต่อหลายคราว พบว่า ส่วนใหญ่ในงานหมอลำที่ตีกันเป็นเพราะแย่งผู้หญิง ผู้บ่าวที่มาเที่ยว

หมอลำจริงๆ แล้วไม่ค่อยอยากไปยุ่งกับผู้หญิงนัก ฉะนั้น กะเทยจึงต้องแต่งตัวให้รู้

“ผู้ชายก็ไม่ได้เบี่ยงเบน เพียงแต่มันเป็นวิถีหนึ่งที่มีอยู่กลมกลืนกันและสนุกสนาน ตอนที่ลงไปในพื้นที่แรกๆ จะถามว่าใครล่าใคร เพราะผู้บ่าวก็จะล่ากะเทย และกะเทยก็จะล่าผู้บ่าว ตรงนี้มันจึงเป็นวิน-วิน เป็นความสนุกที่แลกเปลี่ยนกัน”

มันเป็นวิถีที่อยู่กันอย่างเรียบง่าย สนุกสนาน และเกื้อหนุนกัน

“ณ ปัจจุบัน จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่กลุ่มกะเทยมาเที่ยวแค่กลุ่มเดียว กลุ่มที่เป็นผู้ชาย ที่เรียกตัวเองว่า เกย์ ก็มา แต่คนกลุ่มนี้มาแสวงหาการเป็นเพื่อนกัน แต่ถ้าอยากจะสังสรรค์กับผู้ชายจริงๆ ก็ต้องไปแต่งเป็นหญิงมา เพราะผู้ชายในพื้นที่จะไม่แตะคนที่ยังคงภาพเป็นผู้ชาย”

ฉะนั้น วิวัฒนาการของเพศภาวะ หรือของคนในพื้นที่อีสานจริงๆ ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก แต่การถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น จากกะเทยรุ่นพี่ไปสู่กะเทยรุ่นน้อง จากผู้บ่าวรุ่นพี่ไปผู้บ่าวรุ่นน้อง มันเป็นการเรียนรู้แล้วบอกกัน แต่ผู้ชายบางคนที่ไม่อยากไปจัด เจ้ก็จะไม่ไป แต่จะให้คนที่สมัครใจไป เพราะมันเป็นความสุข ความหรรษา เป็นวิถีที่ดำรงอยู่บนพื้นที่ตรงนั้น

เวทีหมอลำแห่งนี้ จึงไม่เพียงเปิดให้เห็นความหลากหลายทางเพศของกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่ากะเทย แต่ยังสะท้อนให้เห็นซอกเล็กๆ ในใจ ของคนที่ยืนยันว่าเป็นผู้ชาย ที่ไม่ค่อยได้เปิดเผยให้ใครเห็นง่ายๆ

15284942_582096971980308_7462349776996950031_n

อ้างอิงข้อมูลทั้งหมดจากนักวิชาการ และ จากมติชน http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1342152292

ขอขอบคุณภาพจากเฟสบุ๊ค หมอลำคณะระเบียบวาทศิลป์ , หมอลำคณะประถมบันเทิงศิลป์ , มติชน

เรื่องน่าสนใจ