เรียบเรียงข่าวโดย โดดเด่นดอทคอม
ภาพประกอบจาก thaipublica
กระทรวงสาธารณสุข เร่งพัฒนารูปแบบบริการผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิตที่ เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละโรคและโรงพยาบาลแต่ละระดับ ตั้งเป้าหมายขยายบริการถึงโรงพยาบาลชุมชน 300 แห่งทั่วประเทศ เชื่อมโยงการทำงานกับทีมหมอครอบครัว 30,000 ทีม เพื่อดูแลผู้ป่วยที่บ้าน ภายในกันยายน 2558
เช้าวันนี้ (25 มีนาคม 2558) ที่โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี ศาสตราจารย์ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมวิชาการการดูแลแบบประคับประคองแห่งชาติ ครั้งที่ 1
โดยมีแพทย์ พยาบาล อาสาสมัครดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย จากโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ และเครือข่าย อาทิ สมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย ชมรมพยาบาลแบบประคับประคอง สมาคมพยาบาลมะเร็งแห่งประเทศไทย สภาการพยาบาล สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ร่วมประชุมประมาณ 1,000 คน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์รัชตะ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายจัดระบบดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต ซึ่งเป็นโรคที่รักษาไม่หายแล้ว ให้ได้รับการดูแลจากบุคลากรการแพทย์ จนกระทั่งอยู่ในวาระท้ายของชีวิตอย่างต่อเนื่อง
โดยเชื่อมโยงตั้งแต่โรงพยาบาลจนถึงบ้าน เป็นการรักษาโรคตามมาตรฐาน ควบคู่การบรรเทาความทุกข์ทรมานทางกาย จิตใจ จิตวิญญาณตามหลักศาสนา ผู้ป่วยและญาติมีส่วนร่วมตัดสินใจในแนวทางการรักษา โดยในปี 2558 นี้ ได้มอบหมายให้กรมการแพทย์ พัฒนาระบบดูแลผู้ป่วยให้เหมาะสมกับกลุ่มโรคและวัย
เช่น มะเร็ง อัมพฤกษ์ อัมพาต และเหมาะสมกับสถานพยาบาลแต่ละระดับในบริบทของวัฒนธรรมประเพณีไทย
ตั้งแต่ระดับสถาบันเชี่ยวชาญเฉพาะโรคและโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่ง และจะขยายไปสู่โรงพยาบาลชุมชน 300 แห่งทั่วประเทศ หรือร้อยละ 50 ภายในเดือนกันยายน 2558
นอกจากนี้ ยังได้เร่งพัฒนาทีมหมอครอบครัว 30,000 ทีม เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุติดเตียง ผู้พิการ และผู้ที่ต้องดูแลอย่างต่อเนื่องจนถึงระยะสุดท้ายของชีวิต ได้รับการดูแลเชื่อมโยงถึงที่บ้าน มีคุณภาพชีวิตที่ดี
ลดการเข้าโรงพยาบาลจากโรคแทรกซ้อน และลดภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัว โดยพบว่าค่าใช้จ่ายในช่วง 6เดือนสุดท้ายก่อนเสียชีวิตมีมูลค่าสูงกว่าช่วงอื่นๆ คิดเป็นร้อยละ 8-11 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ หรือ 1 ใน 4 ของค่าใช้จ่ายผู้ป่วยที่นอนรักษาในโรงพยาบาล
ด้านนายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในปี 2558 นี้ กรมการแพทย์ ได้วางแผนพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้ายที่เป็นมาตรฐานของไทย จัดทำคู่มือแนวปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย
ครอบคุลมทั้งผู้ป่วยโรคมะเร็งและผู้ป่วยโรคเรื้อรังอื่นๆ เพื่อใช้เป็นหลักปฏิบัติเดียวกันทั่วประเทศ และจัดอบรมพยาบาลในโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ 16 แห่งทั่วประเทศ เพื่อขยายผลจัดอบรมพยาบาลแก่โรงพยาบาลในเขตสุขภาพ 12 เขต
และในปี 2559 ได้วางแผนจัดอบรมประชาชนในการร่วมดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองทั้งโรงพยาบาลและที่บ้าน อาทิ อาสาสมัคร จิตอาสาดูแลผู้ป่วย อสม. และครอบครัวผู้ป่วย เพื่อทำงานเชื่อมโยงกับทีมหมอครอบครัวด้วย