กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ส่งทีมกฎหมายตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีที่ปรากฏในโซเชียลมีเดีย ว่าแพทย์ โรงพยาบาลเอกชนย่านภาษีเจริญวินิจฉัยโรคผิด จนเกือบทำให้เด็กจมูกเน่าจากถ่านกระดุม เพื่อดำเนินการทางกฎหมาย และให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย ย้ำเตือนผู้ปกครองใส่ใจเลือกซื้อของเล่นเด็กอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีระบบป้องกันถ่านหลุดร่วง

ui9486vla36v

จากกรณีผู้ปกครองรายหนึ่งแชร์ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก “Feel Good” ตำหนิการวินิจฉัยโรคของแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งย่านภาษีเจริญที่เกือบทำให้ลูกของผู้แชร์จมูกเน่า โดยผู้ปกครองดังกล่าวได้พาลูกไปตรวจ เนื่องจากลูกมีอาการเลือดกำเดาไหล และมีอาการเจ็บจมูกอยู่ตลอด ซึ่งแพทย์ในโรงพยาบาลตรวจแล้วไม่พบสิ่งแปลกปลอมในจมูก และวินิจฉัยว่าอาจเกิดจากฝีในจมูก และให้ยาไปรับประทานที่บ้าน แต่อาการของเด็กไม่ดีขึ้นจึงพาไปตรวจที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี แพทย์ตรวจพบมีถ่านกระดุมอยู่ในจมูกเด็ก และอาจมีอันตรายทำให้เด็กจมูกเน่าได้ เนื่องจากกรดที่อยู่ในถ่านกระดุมจะกัดเนื้อเยื่อโพรงจมูกได้

ความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว วันนี้ (11 กุมภาพันธ์ 2559) นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กรม สบส. ได้ส่งทีมกฎหมายลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงที่โรงพยาบาลเอกชนย่านภาษีเจริญอย่างเร่งด่วนว่ามีการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 หรือไม่

โดยจะดูทั้งสถานพยาบาล เครื่องมือแพทย์ และแพทย์ที่ให้บริการประกอบกัน จากนั้นจะเรียกทั้ง 2 ฝ่ายมาชี้แจงข้อมูลเพื่อให้ความเป็นธรรม หากพบว่ามีมูลความจริง ในส่วนของแพทย์ผู้ให้การรักษาอาจต้องส่งเรื่องให้แพทยสภาพิจารณามาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรมว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่หากไม่เป็นไปตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพ

ผู้ดำเนินการโรงพยาบาลดังกล่าวจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล 2541 มาตรา 34 (2) โทษฐานไม่ควบคุมและดูแลให้ผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาลปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายวิชาชีพที่เกี่ยวข้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

aHR0cDovL3BlMS5pc2Fub29rLmNvbS9ucy8wL3VkLzM4OS8xOTQ2NTAyL25ld3MwOC5qcGc=

ภาพประกอบจาก Sanook.com

ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เด็กนำถ่านกระดุมที่ใส่ในของเล่นเด็กเข้าสู่ร่างกายจนเกิดอันตรายนั้น ถือว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกครอบครัวที่ซื้อของเล่นเด็กประเภทนี้มาให้ลูกหลานเล่น จากสถิติของประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2548-2557 มีรายงานผู้กลืนถ่านกระดุมกว่า 11,940 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมาก็มีข่าวเด็กหญิงชาวต่างชาติกลืนถ่านกระดุมลงไป ทำให้พิษจากสารตะกั่วหรือแคดเมี่ยมในถ่านกระดุมรั่วไหลออกมากัดกระเพาะอาหารและลำไส้จนเสียชีวิต

ขณะนี้ประเทศไทยมีรายงานการเกิดเหตุประเภทนี้เพียงประปราย แต่คาดว่าแนวโน้มของเล่นเด็กในอนาคตจะเป็นอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ดังนั้น จึงขอย้ำเตือนให้ผู้ปกครอง ระมัดระวังเป็นกรณีพิเศษ การซื้อของเล่นที่ใส่ถ่านกระดุมขอให้เลือกชิ้นที่มีการขันน็อตล็อคที่ช่องใส่ถ่าน หากไม่มีน็อตขัน ขอให้ใช้เทปกาวปิดทับที่ฝาปิดช่องใส่ถ่านเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กแกะถ่านออกมาได้ และถ่านกระดุมที่ยังไม่ใช้ขอให้เก็บไว้ในที่ปลอดภัย และให้พ้นมือเด็ก กรณีถ่านที่ใช้แล้วควรแยกใส่ถุงพลาสติกและติดป้ายว่าขยะมีพิษ เพื่อแยกทำลายให้ถูกวิธีต่อไป

เรื่องน่าสนใจ