น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า กรม สบส.ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากการศัลยกรรมเสริมความงามโดยสถานพยาบาลที่ไม่ได้มาตรฐาน ยิ่งปัจจุบันค่านิยมว่าการทำศัลยกรรมเพื่อแก้ไขรูปลักษณ์ให้โดดเด่นสวยงาม อาจส่งผลต่อความสำเร็จทั้งในด้านการงานและด้านสังคม
บางคนถึงกับเกิดความคลั่งไคล้ ใช้เวลากับการทำศัลยกรรมหลายต่อหลายครั้งจนในที่สุดก็เกิดเป็นปัญหา “การเสพติดศัลยกรรม” อาการของ “การเสพติดศัลยกรรม” คือ การรู้สึกไม่พอใจกับรูปร่าง หน้าตาของตนเอง และต้องการศัลยกรรมเพื่อปรับเปลี่ยนแก้ไขให้ได้อย่าใจต้องการอย่างไม่รู้จบ สาเหตุของอาการโดยส่วนใหญ่มาจากการที่มีความหมกมุ่นเกี่ยวกับร่างกายของตัวเองมากเกินไป และเกิดความไม่พึงพอใจในตนเอง นำมาซึ่งการแก้ไขปัญหา ด้วยการศัลยกรรม โดยมิได้คำนึงว่าการทำศัลยกรรมเสริมความงามนับเป็นดาบสองคม มิใช่ว่าทุกรายเมื่อเข้าสู่กระบวนการทำศัลยกรรมเสริมความงามแล้วออกมาดูดี สวยงาม ดั่งที่หวังเหมือนกันหมด
ผู้โชคร้ายบางรายที่ประสบปัญหาจากการศัลยกรรมจนพบกับความเจ็บปวด ต้องใช้ชีวิตอย่างลำบาก บางรายถึงขั้นฆ่าตัวตายและเสียชีวิตจากการศัลยกรรมความงามโดยสถานพยาบาลที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาตก็มีให้พบเห็นบ่อยครั้งขึ้น ซึ่งกรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้มีมาตรการคุมเข้มในการตรวจสถานเสริมความงามเพื่อความปลอดภัย เน้นย้ำให้ผู้ตัดสินใจพิจารณาศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดก่อนการตัดสินใจทำศัลยกรรมดังกล่าว
สำหรับผู้ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต ถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและ รับอนุญาต มีความผิดตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากพบว่าสถานพยาบาลหรือคลินิก มีการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินความจริง มีความผิดตาม มาตรา 58 จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 68 ปรับไม่เกิน 20,000 บาท และปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท นับแต่วันที่ฝ่าฝืน หรือจนกว่าจะระงับการโฆษณาดังกล่าว
ผู้ที่ต้องการเข้ารับบริการศัลยกรรมเสริมความงาม ควรศึกษาข้อมูลที่ถูกต้องและเชื่อถือได้จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ในด้านของแพทย์ผู้ให้บริการต้องแจ้งกับผู้รับบริการทั้งผลดีและผลเสียที่ตามมา หากพบข้อผิดสังเกตหรือข้อสงสัย กับสถานพยาบาลและแพทย์ผู้ให้บริการศัลยกรรมเสริมความงาม สามารถตรวจสอบข้อมูลได้จากสภาวิชาชีพ และสามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน สบส. โทร.0-2193-7999 ตลอด 24 ชั่วโมง
ขอบคุณที่มาจาก หนังสือพิมพ์บ้านเมือง