ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.แสนสิริ ได้เขียนบทความในคอลัมน์ “เศรษฐา & กีฬา” และนำมาลงไว้ในเว็บไซต์ของแสนสิริ ซึ่งเป็นบทความว่าด้วยเรื่องของ “เพศ” ในวงการกีฬา
โดยมีเนื้อน่าสนใจว่า เรื่องที่ผมจะเขียนถึงวันนี้อาจจะดูเป็นหัวข้อที่ละเอียดอ่อนและ “ต้องห้าม” สำหรับสังคมบางกลุ่ม แต่ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างมากสำหรับวงการกีฬาที่เราต้องเปิดรับเรื่องแบบนี้เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพของนักกีฬาโดยไม่มีข้อแม้
คงไม่มีใครเถียงว่า ฟุตบอล ยังถูกมองว่าเป็นกีฬาของเพศชายเสียส่วนมาก แม้ฟุตบอลหญิงจะเริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ก็ยังต้องถือว่าไม่ค่อยแพร่หลายและยังไม่ขึ้นมาเทียบเท่าวงการฟุตบอลชายได้
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ exposure ต่างๆ ค่าตอบแทน ค่าตัว เงินรางวัล ซึ่งล้วนแล้วแต่ไม่มีความเท่าเทียมกันทั้งสิ้น และห่างกันค่อนข้างมากเสียด้วยซ้ำ
ดังนั้นถ้าผมเอ่ยชื่อ Megan Rapione นักฟุตบอลตำแหน่งกองกลางทีมชาติสหรัฐอเมริกา Lianne Sanderson ผู้เล่นตำแหน่งกองหน้าทีมชาติอังกฤษ และ อดีตนักฟุตบอลทีมชาติสหรัฐฯ อีกคนอย่าง Abby Wambach ท่านผู้อ่านอาจจะไม่ค่อยคุ้นชินกันเท่าไหร่แม้พวกเธอจะเป็นนักฟุตบอลหญิงระดับต้นๆ ของวงการในอดีตและปัจจุบัน
พวกเธอเหล่านี้ไม่ใช่แค่เป็นนักฟุตบอลระดับโลกเท่านั้นนะครับ แต่เป็นนักกีฬาสตรีที่ออกมาเปิดเผยว่าพวกเธอเป็น “ผู้หญิงที่รักผู้หญิง” ด้วยกันอย่างเปิดเผย ถึงขนาดบางคนมีคู่หมั้นและคู่สมรสแล้ว ซึ่งจะว่าไปแล้วก็น่ายินดีนะครับที่พวกเธอสามารถเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงออกมาได้อย่างสบายใจ
ต่างกับนักกีฬาชายที่ไม่ค่อยเปิดเผยเรื่องนี้กัน แม้จะมีการเปิดตัวบ้างแต่โดยมากถ้าสังเกตที่ผ่านมาจะเปิดเผยภายหลังที่จบอาชีพนักกีฬาอาชีพไปแล้วเสียส่วนมาก
Tom Daley นักกระโดดน้ำทีมชาติอังกฤษ (Credit: thedailybeast.com)
Keegan Hirst นักรักบี้ (Credit: independent.co.uk)
แม้ในช่วงถ้าย้อนหลังไปเมื่อเกือบปีที่แล้ว ผมจำได้เคยมีข่าวว่าจะมีนักฟุตบอลอาชีพที่เล่นใน EPL 2 รายกำลังจะเปิดเผยตัวให้ทราบว่าเป็นเกย์ แต่ท้ายสุดผมก็เห็นข่าวนี้เงียบหายไปและเข้าใจว่าก็ไม่มีการเปิดเผยกันอย่างที่บอก
ผมเข้าใจว่าเป็นเพราะความเชื่อของสังคมที่มีกันมาแต่เนิ่นนาน เป็นแนวคิดแบบ stereotype ที่มองว่ากีฬา โดยเฉพาะ contact sport เป็นเรื่องของเพศชาย เป็นเรื่องของความแข็งแรง กำยำ ทำให้ถ้าจะมีนักกีฬาสักคนออกมาบอกว่าตัวเค้าเองเป็นเกย์ จะเป็นการสร้างความสั่นสะเทือนกับความเชื่อดังกล่าว
และสร้างความวิตก ในประเด็นที่สังคมไม่เคยยอมรับและไม่เคยรับรู้ อีกทั้งปรากฏการณ์แบบนี้ยังไม่ค่อยได้เห็นกันทำให้ทุกฝ่ายอาจจะไม่รู้ว่าจะต้อง react หรือประพฤติตัวอย่างไร ไหนจะเพื่อนร่วมทีม ไหนจะโค้ช ไหนจะผู้จัดการทีม ไหนจะแฟนๆ
รวมทั้งสปอนเซอร์ต่างๆ ซึ่งถ้าเรามองในภาพรวมผมก็ยอมรับครับว่าคงต้องเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากและต้องมีความเด็ดขาดจริงๆ ถึงจะทำได้
ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเราลองมองย้อนกลับไปในกรณีที่ผ่านๆ มา ทุกครั้งเลยที่นักกีฬาชายออกมาบอกถึงสถานะที่แท้จริงของพวกเค้า บรรดาสื่อและความสนใจของสาธารณชนก็ถูกกระพือขึ้นอย่างแรง แตกต่างกับกรณีของนักกีฬาหญิงที่ออกมาบอกว่าเป็นเลสเบี้ยนนะครับ
น้อยครั้งนักที่จะได้รับความสนใจจากสื่อและแฟนๆ กีฬา เพราะอะไรครับ หลายคนบอกว่านั่นก็เพราะเป็นความเชื่อดั้งเดิมของสังคมเราอีกเหมือนกันว่า “กีฬา กับ ผู้หญิง” โดยเฉพาะกีฬา contact sport อย่างฟุตบอลเมื่อนำมาอยู่ด้วยกันก็เป็นตัวบ่งชี้ได้ค่อนข้างสูงว่าผู้หญิงที่เล่นกีฬานั้นๆ เป็น “หญิงรักหญิง” ไปซะแล้ว
ซึ่งจะว่าไปก็ไม่แฟร์นะครับแต่ก็ทำให้การที่นักฟุตบอล 3 คนที่ผมเอ่ยชื่อไปข้างต้นออกมาเปิดเผยชีวิตส่วนตัวไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไรมากมาย
อีกความเชื่อหนึ่งที่ผมคิดว่าสร้างความแตกต่างระหว่างทั้งสองกรณีก็คือ ความเชื่อที่คิดว่าการที่ผู้ชายเป็นเกย์เป็นองค์ประกอบและปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้ศักยภาพทางกีฬาของพวกเค้า “ด้อย” กว่าธรรมดา
ในขณะที่การที่ผู้หญิงมีความเป็นชายมากกว่าปกติจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพของพวกเธอให้สูงกว่าสตรีธรรมดา จะว่าไปก็เป็นการเหมารวมที่ไม่แฟร์นะครับ และผมก็ไม่เชื่อด้วยว่าจะเป็นเช่นนั้นจริงๆ แต่อย่างว่าครับ ไม่ใช่ทุกคนจะคิดเหมือนผม
ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เรื่องนี้ยังสร้างความกังวลใจให้กับกลุ่มนักกีฬาเกย์ที่กลัวว่า “มูลค่า” ของตนจะลดลงในสายตาของคนอื่นๆ และส่งผลกระทบต่อสัญญาต่างๆ ของสปอนเซอร์ตน
แต่นับเป็นเรื่องที่ดีนะครับที่บรรดาสปอนเซอร์อุปกรณ์กีฬาระดับโลกอย่างทั้ง adidas และ nike ต่างก็มีแนวทางที่เปิดกว้าง และให้การสนับสนุนบรรดานักกีฬากลุ่ม เลสเบี้ยน เกย์ อย่างเปิดเผย
โดยเฉพาะ adidas ถึงกับมีข้อระบุในสัญญาว่าหากมีการเซ็นสัญญาไปแล้ว และเปิดเผยตัวว่าเป็นกลุ่ม ชายรักชาย หรือ หญิงรักหญิง ก็จะไม่มีผลกระทบใดๆ และจะไม่เป็นปัจจัยในการยกเลิกหรือไม่ต่อสัญญาแต่อย่างใด ซึ่งจะว่าไปก็เป็นตัวช่วยหนึ่งที่ดีในการล้มล้าง stereotype ในเรื่องนี้ได้ไม่มากก็น้อย
Andy Gray และ Richard Keys คู่หูพากษ์บอลของ Sky TV เหยียดความสามารถกรรมการสุภาพสตรี (Credit: theaustralian.com.au)
แต่ปัญหาใหญ่อีกหนึ่งผมว่าอยู่ที่พวกเราแฟนๆ กีฬาด้วยครับ ยิ่งถ้าเป็นแฟนกีฬาประเภทฟุตบอลแล้วล่ะก็ ต้องปรับความคิดกันขนานใหญ่นะครับ เพราะเรายังเห็นภาพน่าเกลียดหลายต่อหลายครั้งในสนามและนอกสนาม
ไม่ว่าจะเป็นความคิดประเภท sexist อย่างการเหยียดความสามารถกรรมการสุภาพสตรีอย่างที่ Andy Gray และ Richard Keys คู่หูพากษ์บอลของ Sky TV ทำและโดน boycott มาแล้ว หรือกรณีที่แฟนบอลหลายๆ คนยังตะโกนดูถูกนักฟุตบอลหญิงทีมชาติสหรัฐฯ และออสเตรเลีย ในการแข่งขันโอลิมปิคที่ผ่านมาในเชิงต่อต้านการรักร่วมเพศ
เรื่องเหล่านี้ไม่ไกลตัวหรอกครับ ผมเชื่อว่าวงการฟุตบอลไทยเราท้ายที่สุดก็ต้องดีลกับเรื่องแบบนี้ ขึ้นอยู่กับว่าจะเร็วหรือช้าแค่ไหน ถ้าจะก้าวข้ามให้ได้เราต้องเริ่มที่การปรับทัศนคติของเยาวชนรุ่นใหม่จากคนในบ้านและผู้ปกครองนะครับ ให้เค้าเข้าใจและยอมรับตัวตนของเพื่อนร่วมสังคม
ให้เค้าแยกแยะ stereotype ของกีฬากับเพศให้ออก รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต้องไม่หลีกเลี่ยงที่จะจัดการกับปรากฏการณ์ทางสังคมอันนี้ อย่าหลับตาข้างเดียวแล้วคิดว่าให้มันดำเนินไปด้วยตัวเอง เราทุกคนในสังคมและวงการกีฬาควรมีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดความเสมอภาค ให้เกียรติทุกคนทุกเพศเหมือนกันครับ
ข้อมูลจาก : คอลัมน์ “เศรษฐา & กีฬา” ว่าด้วยเรื่องของ “เพศ” ในวงการกีฬา โดยคุณเศรษฐา ทวีสิน