วันนี้ ( 14 มีนาคม 2560 ) ที่ จ.ราชบุรี นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมติดตามผลการดำเนินงานการรับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะเขตสุขภาพที่ 5 ที่โรงพยาบาลราชบุรี และให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดแผนพัฒนาระบบบริการสาขารับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ มีเป้าหมาย “เพิ่มการปลูกถ่ายอวัยวะ ลดการตาย ได้คิวเร็ว” จะขยายการรับบริจาคอวัยวะและดวงตาให้ครอบคลุม รพศ. รพท. ให้ครบทุกแห่ง ภายในปี 2562
รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการรับบริจาคอวัยวะในโรงพยาบาล ตั้งเป้าหมายในปี 2560 ขอรับบริจาคอวัยวะในโรงพยาบาลที่เป็นศูนย์รับบริจาคได้สำเร็จอย่างน้อย 1 ราย และบริจาคดวงตา ไม่น้อยกว่า 5 ราย จากผู้เสียชีวิตในโรงพยาบาล 100 ราย
นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า การปลูกถ่ายอวัยวะ เป็นทางรอดทางเดียวสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ ตับ ปอด ไตวาย ระยะสุดท้าย รวมทั้งช่วยแก้ปัญหาความพิการของดวงตา โดยเฉพาะผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย การปลูกถ่ายไตจะช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิต ต่ำกว่าการฟอกเลือดหรือล้างไตทางช่องท้อง
โดยผู้บริจาคอวัยวะ 1 ราย สามารถช่วยชีวิตผู้รับบริจาคอวัยวะได้มากกว่า 8 คน จึงเร่งพัฒนาระบบบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ และสนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมรณรงค์รับบริจาคอวัยวะและดวงตา“ทำดีที่สุดถวายเป็นพระราชกุศล” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โดยพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ในการเจรจาขอรับบริจาคอวัยวะ การประสานงานการบริจาคอวัยวะ การดูแลผู้บริจาคอวัยวะ และสนับสนุนการรณรงค์/ประชาสัมพันธ์
มีแผนการดำเนินงาน คือ 1.พัฒนาระบบการรับบริจาคอวัยวะ จากผู้ป่วยสมองตายและพัฒนาระบบการรับบริจาคดวงตาในโรงพยาบาล 2.รณรงค์การสื่อสาร ประชาสัมพันธ์การบริจาคอวัยวะ และดวงตาให้ลงสู่ชุมชน 3.พัฒนาทีมปลูกถ่ายไต /ตา และศูนย์รับบริจาคอวัยวะและศูนย์รับบริจาคดวงตาให้รองรับการบริการ และ4.พัฒนาทีมงานติดตามการบริจาคอวัยวะในระดับเขต
ผลการดำเนินงานในรอบ 5 เดือน ปีงบประมาณ 2560 มีจำนวนผู้บริจาคอวัยวะสมองตายในโรงพยาบาลทั้งประเทศ ทั้งสิ้น 106 ราย ในจำนวนนี้เป็นโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวง 91 ราย ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะจากผู้ป่วยสมองตาย จำนวน 243 ราย มีผู้บริจาคดวงตาทั้งสิ้น 101 ราย ผ่าตัดแล้ว 97 รายและยังมีผู้รอรับการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา 11,591 ราย โดยโรงพยาบาลราชบุรี สามารถเจรจาขอรับบริจาคได้สำเร็จ 6 ราย ได้รับดวงตา 6 คู่ อวัยวะ (หัวใจ ตับ ไต) 3 ราย และผิวหนัง กระดูก เนื้อเยื่อ 4 ราย จากการเสียชีวิตในโรงพยาบาลราชบุรี 527 ราย
สำหรับเขตบริการสุขภาพที่ 5 นับว่ามีความคืบหน้าผลการดำเนินงานในระดับหนึ่ง โดยตั้งแต่ตุลาคม 2559 – กุมภาพันธ์ 2560 มีผู้บริจาคอวัยวะสมองตาย 23 ราย ส่วนดวงตา 71 ราย สูงกว่าปี 2559 ทั้งปีที่มีผู้บริจาคอวัยวะสมองตาย 6 ราย และดวงตา 23 ราย
โดยมีศูนย์ปลูกถ่ายไต คือโรงพยาบาลราชบุรี อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อขอรับรองเป็นสมาชิกวิสามัญ Kidney Transplant center โดยจะทำการผ่าตัดปลูกถ่ายไตรายแรกได้ในปี 2560 และมีศูนย์ปลูกถ่ายกระจกตา ( Corneal transplant center) ที่โรงพยาบาลนครปฐม เริ่มทำผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาตั้งแต่ปี 2559 ขณะนี้มีผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาแล้ว 12 ราย