กรณีข่าวถูกสุนัขกัดในห้องเอกซเรย์ นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระแสความนิยมการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเพื่อเป็นเพื่อนคลายเหงา และนำสัตว์เลี้ยงร่วมเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ มีให้เห็นมาอย่างยาวนานในสังคมไทย อาจด้วยเจ้าของหลายคนเข้าใจว่าสัตว์เลี้ยงของตน สะอาด ปราศจากเชื้อโรค สามารถนำไปยังสถานที่ใดก็ได้ แต่ที่จริงแล้วสัตว์เลี้ยงเหล่านี้อาจจะเป็นพาหะในการแพร่เชื้อ
อาทิ เชื้อไวรัส, เชื้อแบคทีเรีย, เห็บ และหมัด ซึ่งหากมีการสัมผัส หรือถูกเลีย บริเวณใบหน้า มือ หรือแขน ก็อาจจะเป็นสาเหตุให้เกิดการติดเชื้อ รวมทั้ง “ขนสัตว์เลี้ยง” ยังเป็นสาเหตุของโรคภูมิแพ้ หรือกระตุ้นให้เกิดภาวะโรคหอบหืดได้ ดังนั้น เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับบริการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพ มาตรฐาน ปลอดภัย
กรม สบส.ขอเน้นย้ำ ให้สถานพยาบาล หรือคลินิกทุกแห่ง ซึ่งเป็นสถานที่ให้บริการตรวจรักษาพยาบาล เข้มมาตรฐานความสะอาด ห้ามนำสัตว์เลี้ยง ทั้งสุนัข แมว นก ฯลฯ เข้าในพื้นที่บริการโดยเด็ดขาด เพราะผู้ป่วยที่เข้ารับบริการรักษาพยาบาลต่างก็มีภูมิคุ้มกันที่ต่ำกว่าบุคคลทั่วไป มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่าย
รวมทั้ง รักษาคุณภาพ มาตรฐาน สถานพยาบาลตามที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2559 กำหนดให้ครบถ้วนทั้ง 5 ด้าน คือ 1.สถานที่ ต้องสะอาด 2.แพทย์ผู้ให้บริการ ต้องมีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม 3.การบริการต้องได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด 4.ยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ต้องได้รับการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ5.ความปลอดภัย ต้องมีอุปกรณ์ช่วยชีวิตพร้อมหากเกิดเหตุฉุกเฉิน
ด้าน ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ. สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 พ.ศ.2559 มาตรา 34 กำหนดให้ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลจะต้องควบคุมและดูแลสถานพยาบาลให้สะอาด เรียบร้อย ปลอดภัย และมีลักษณะอันเหมาะสม แก่การใช้เป็นสถานพยาบาล และกฎกระทรวงสาธารณสุข
ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ว่าด้วยลักษณะของสถานพยาบาลและการให้บริการของสถานพยาบาล พ.ศ.2558 ในหมวดที่ 1 กำหนดให้บริเวณคลินิกทั้งภายนอกและภายในต้องสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย จัดแบ่งพื้นที่ใช้สอยอย่างเหมาะสม และมีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วย
หากได้รับการแจ้ง หรือตรวจพบว่าคลินิกใดนำสัตว์เข้าไปเลี้ยงในพื้นที่บริการ หรือปล่อยปละ ละเลย ให้มีการนำสัตว์เลี้ยงเข้าไปในพื้นที่ กรม สบส.จะดำเนินการส่งพนักงานเจ้าหน้าที่ไปให้คำแนะนำโดยทันที และจัดทำหนังสือแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรถึงผู้ดำเนินการให้ปรับปรุงสถานที่ให้สะอาด เรียบร้อย ได้มาตรฐาน ภายในระยะเวลา 7 วัน
หลังจากครบระยะเวลา ที่คลินิกได้รับการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว จะทำการส่งพนักงานเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบมาตรฐานความสะอาด เป็นครั้งที่ 2 หากยังไม่มีการปรับปรุงจะดำเนินการลงโทษตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป