กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผยปี 2559 พบผู้ป่วยโรคมือเท้าปากจำนวน 2,010 คน กว่าร้อยละ 73 เป็นเด็กเล็กอายุ 1-3 ปี ภาคเหนือมีอัตราป่วยสูงสุด โรคนี้ทุกปีระบาด 2 ช่วงคือฤดูหนาวและฤดูฝน กำชับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล ป้องกันควบคุมโรคตามมาตรการกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตลงได้เช่นปี 2558 ที่พบป่วยเพียง 4 หมื่นกว่าคน
นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ช่วงเดือนแรกของปี 2559 พบผู้ป่วยโรคมือเท้าปาก 2,010 คน จาก 74 จังหวัด ภาคเหนือมีอัตราป่วยสูงสุด รองลงมาภาคกลาง ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยกว่าร้อยละ 73 เป็นเด็กเล็กอายุ 1-3 ปี
ทั้งนี้ สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค ได้วิเคราะห์ข้อมูลการระบาดของปี 2558 ทั่วประเทศพบผู้ป่วยโรคมือเท้าปาก 40,517 คน เสียชีวิต 3 ราย ได้มีการเร่งรัดควบคุมป้องกันโรคอย่างเข้มข้นตลอดปี ทำให้ลดจำนวนผู้ป่วยในช่วงฤดูฝนเดือนพฤษภาคม-สิงหาคมลงได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังพบการระบาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ตุลาคมจนถึงสิ้นปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาในช่วงต้นปี 2559 ระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและภาคใต้ตอนบน ซึ่งมีการระบาดต่อเนื่องมาจากปลายปี 2558
โดยปัจจัยที่ส่งเสริมการระบาดของโรคมือเท้าปากนั้นส่วนหนึ่งมาจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น ทำให้ประชาชนละเลยการล้างมือ รวมทั้งการมีฝนตกชุกในพื้นที่ภาคใต้ เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เร่งรัดรณรงค์ขอความร่วมมือศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาลในพื้นที่ ดำเนินการป้องกันควบคุมโรค ตามมาตรการของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้มีเด็กป่วยและเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นในปี 2559
สำหรับโรคมือเท้าและปากเกิดจากเชื้อเอนเทอโรไวรัส ผู้ป่วยจะมีไข้ มีจุดหรือผื่นแดงอักเสบในปาก ที่ลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม และเกิดผื่นแดง ตุ่มพองใสรอบๆ แดงที่บริเวณฝ่ามือ นิ้วมือ และฝ่าเท้า โรคนี้รักษาตามอาการ ได้แก่ การให้ยาลดไข้ กระตุ้นให้รับประทานอาหาร ให้อาหารเหลวหรืออาหารที่มีอุณหภูมิต่ำ เช่น ไอศกรีม ให้ยาทาแผลในปาก เป็นต้น
โดยทั่วไปผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นภายใน 5-7 วัน ในเด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี บางรายอาจมีอาการแทรกซ้อนรุนแรง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ก้านสมองอักเสบ ปอดบวมน้ำ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และระบบหัวใจและระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ทำให้เสียชีวิต โดยมีสัญญาณอันตรายได้แก่ ไข้สูงไม่ลดลง ซึม อาเจียนบ่อย หอบ และแขนขาอ่อนแรง เกิดภาวะอัมพาตคล้ายโปลิโอ ให้รีบพบแพทย์ทันที