กรณี โดดเด่นดอทคอม นำเสนอเรื่องราวของ สมุนไพรใบกระท่อม ที่นำมาสกัดเป็นสมุนไพรรักษาโรคที่ประเทศมาเลเซียซึ่งทำให้บุคลากรในแวดวงแพทย์แผนไทย รู้สึกประหลาดใจกันมาก และเรื่องใหญ่ในวงการแพทย์แผนไทย
จากการสังเกตปฏิกิริยาของ ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร หรือ หมอต้อม รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ระหว่างการบรรยาย ต้อนรับ คณะของ นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และสื่อมวลชน ที่ได้เดินทางไปเยี่ยมชมงานโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ( 5 มิ.ย. 2560 ) ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ได้พูดถึง สมุนไพรใบกระท่อม มาเป็นระยะๆ เหมือนจะบ่งบอกอะไรบางอย่าง แต่พอผ่านมาแค่สองวันก็ปรากฏข่าว ประเทศมาเลเซีย นำใบกระท่อมสกัดทำสมุนไพรรักษาโรค จดสิทธิบัตรไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้ไทยเรากำลังดำเนินการแก้ไขกฎหมาย ควบคู่กับการศึกษาผลกระทบ เช่น กัญชา กระท่อม และเมทแอมเฟตามีน เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์
จากการศึกษาสารสำคัญในใบกระท่อม พบว่ามีแอลคาลอยด์หลายชนิด แต่ที่สำคัญคือ mitragynine จำนวนใบกระท่อม 20 ใบ สกัดให้สาร mitragynine ประมาณ 17 มิลลิกรัม สารนี้พบได้เฉพาะในพืชกระท่อมเท่านั้น จึงใช้เป็นสารพิสูจน์เอกลักษณ์พืชกระท่อมได้ มีรายงานผลการศึกษาวิจัยสารสกัดจากใบกระท่อม และ mitragynine ในสัตว์ทดลอง พบฤทธิ์ที่สำคัญดังนี้
ฤทธิ์ลดการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบ จึงมีฤทธิ์ทำให้เกิดการชาเฉพาะที่ได้ และยังมีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางคล้ายโคเคน
ฤทธิ์ระงับปวดในลักษณะเดียวกับมอร์ฟีนในฝิ่น โดยออกฤทธิ์ที่ mu-opioid receptor และ delta-opioid receptor และฤทธิ์ระงับปวดยังเกี่ยวพันกับฤทธิ์กดการทำงานของ 5-HT2A receptor จึงเป็นสารแก้ปวดที่แตกต่างจากมอร์ฟีนฝิ่น
ฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งของกรดในกระเพาะอาหารได้เช่นเดียวกับมอร์ฟีน โดยผ่านกลไกการออกฤทธิ์ที่ opioid receptors ทั้งนี้เชื่อว่า มีความเกี่ยวข้องกับอาการข้างเคียง เช่น เบื่ออาหาร น้ำหนักลด และอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้เสพใบกระท่อมไม่รู้สึกหิว (ไม่อยากอาหาร) จึงทำงานได้นานขึ้น
ฤทธิ์ลดการบีบตัวลำไส้ โดยออกฤทธิ์ที่ mu-opioid receptor และ delta-opioid receptor จึงแตกต่างจากสารกลุ่ม opioid อื่นๆ ฤทธิ์ในการลดไข้
ด้าน ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว หรือ หมอสอง เภสัชกรหญิง ผู้เชี่ยวชาญแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี ซึ่งเคยทำงานให้กับองค์การอนามัยโลก หรือ WHO กล่าวว่า เรื่องนี้ได้มีการพูดคุยกันมาตลอด ล่าสุดก็เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งทางมาเลเซีย ค่อนข้างจะเน้นวิทยาศาสตร์การแพทย์ แต่เขาให้ความสำคัญกับสมุนไพรใบกระท่อม ถึงขั้นจดสิทธิบัตร ก็ทำให้เห็นแล้วว่าพืชประเภทนี้มีประโยชน์มากมายจริงๆ
“หากเราย้อนดูเรื่องการทยอยปลดล็อคกฏหมายให้ยาเสพติดใช้ในทางการแพทย์ เช่น กัญชง และ กัชญาให้ ใบกระท่อม โดยให้ออกไปจาก กลุ่มยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ผู้ใดผลิต จำหน่าย นำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2-15 ปีและปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 150,000 บาท จะพบว่ามีการไล่พิจารณามาตั้งแต่กลุ่มที่ให้โทษน้อยๆ
เหมือนกัญชง ตอนนี้ที่อนุญาตให้ปลูกได้ ในพื้นที่กำหนด 6 จังหวัด โดยจะปลูกได้ในบางอำเภอของ จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย จ.น่าน จ.ตาก จ.เพชรบูรณ์ และ จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งสายพันธุ์ที่ปลูกจะต้องมีสารออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท (THC) ไม่เกิน 1 เปอร์เซ็นต์ โดยเยื่อของต้นกัญชงสามารถนำมาเป็นสิ่งทอได้
นายกรัฐมนตรี ให้ความสนใจ ให้งบประมาณจำนวนมาก ติดตามสอบถามตลอด โดยมี นพ.จรัญ บุญฤทธิการ ผอ.รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร และ ภญ.ผกากรอง ให้คำแนะนำเรื่องสมุนไพรไทย
การดำเนินการแก้ไขกฎหมาย ใบกระท่อม ที่ยังอยู่ในกลุ่มยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ไม่ได้หยุดชะงักไปเลยซะทีเดียว เพราะปลายปีที่ผ่านมาก็มีการนำเรื่องนี้มาถกกันอีกครั้ง แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะต้องศึกษารอบด้าน มีหลายหน่วยงานพบสถิติ และ นำเอาปัญหาการแพร่ระบาดในกลุ่มวัยรุ่นที่มักนิยมนำน้ำกระท่อมต้ม ผสมกับโค้ก ยากันยุง และยาแก้ไอ หรือ ที่เรียกว่า 4×100”
จากการตรวจสอบของ ทีมข่าวโดดเด่นดอทคอมพบว่า ทางสถาบันธัญญารักษ์ มีการรายงานพบว่ามีวัยรุ่นได้รับผลกระทบจาก ผู้เสพติดใบกระท่อม ถ้าหยุดเสพ จะเกิดอาการขาดยา
ได้แก่ ไม่มีแรง ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและกระดูก แขนขากระตุก รู้สึกอ่อนเพลียไม่สามารถทำงานได้ อารมณ์ซึมเศร้า นํ้าตาไหล นํ้ามูกไหล ก้าวร้าว ดังนั้นจึงต้องวางแผนการปลูก การควบคุม การเข้าถึง กระบวนการต่างๆ ยิบย่อย …อันนี้คือรายงานของจิตแพทย์
สำหรับ หน่วยงานที่ต้องไปตามจี้โดยตรงคือ คณะกรรมาธิการ วิสามัญศึกษาผลดีและผลเสียของการบริโภคพืชกระท่อม เพื่อเป็นแนวทางในการเสนอว่าควรยกเลิกพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษ ประเภท ๕ ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษหรือไม่ สำนักกรรมาธิการ ๒ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เพราะทาง กระทรวงสาธารณสุข ได้นำเข้าที่ประชุมวุฒิสภารับทราบแล้ว
ทั้งนี้ ในบทสรุปของที่ประชุม คณะกรรมาธิการฯ มีข้อสังเกตพบว่าตั้งแต่ได้พิจารณาศึกษาเรื่องดังกล่าว ไม่พบว่ามีสื่อมวลชนแขนงใดวิพากษ์วิจารณ์ นอกจากนี้ฝ่ายปกครองก็ต้องการให้ยกเลิกพืชกระท่อม ออกจากกฎหมายว่าด้วยยาเสพ ติดให้โทษเช่นกัน เนื่องจากมิอาจทวนกระแสข้อเท็จจริงในสังคมได้