การตัดสินใจเลือกสถานพยาบาลสำหรับให้ลูกที่เป็นเด็กพิเศษ เป็นเรื่องที่สำคัญของคนเป็นพ่อเป็นแม่ โดยควรคำนึงถึงความสะดวกในการเดินทาง ใกล้บ้านหรือใกล้ที่ทำงาน ตลอดจนมาตรฐานของโรงพยาบาล ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มากด้วยประสบการณ์ในการรักษา พยาบาลที่มีความชำนาญ มีอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย สำหรับลูกที่อยู่ในวัยเด็ก จนถึงวัยรุ่น ที่มีความพิเศษ
ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่า บ่ายวันนี้ ( 19 มิถุนายน 2560 ) นายแพทย์ชิโนรส ลี้สวัสดิ์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิด “อาคารเด็กดี” ที่โรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ อ.เมือง จ.นครพนม ซึ่งเป็นศูนย์เชี่ยวชาญในการบัดรักษาเด็กและวัยรุ่นที่มีปัญหาด้านการเรียน พฤติกรรม เจ็บป่วยด้านจิตใจหรือมีปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ
เช่น สมาธิสั้น ( attention deficit/hyperactive disorder ) เด็กออทิสติก ( Autistic) เด็กที่บกพร่องด้านการเรียนรู้ (Learning Disorder) รวมทั้งพัฒนาการล่าช้า เป็นต้นแบบสำหรับโรงพยาบาลต่างๆ ในการจัดบริการตรวจรักษาผู้ป่วยจิตเวชเด็กและวัยรุ่น และเป็นศูนย์รับส่งต่อผู้ป่วยจิตเวชเด็กและวัยรุ่นในเขตสุขภาพที่ 8 ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบด้วย 7 จังหวัดได้แก่ นครพนม บึงกาฬ หนองคาย เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี และสกลนคร
นายแพทย์ชิโนรสกล่าวว่า กรมสุขภาพจิตได้ให้ความสำคัญกับการจัดบริการบำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ซึ่งพบว่าขณะนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆและมีผลกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็ก อาจส่งผลต่อพฤติกรรมอารมณ์เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ สาเหตุการป่วยมีทั้งมาจากกรรมพันธุ์ และการเลี้ยงดูของผู้ปกครอง
เช่นโรคสมาธิสั้น ผลการสำรวจในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นอายุ 13-17 ปี ของกรมสุขภาพจิตล่าสุดในปี 2559 พบว่ามีเด็กเป็นโรคนี้ร้อยละ 3.8 หรือมีประมาณ 150,000 คนทั่วประเทศ ซึ่งโรคนี้มีโอกาสมีอาการต่อเนื่องไปจนถึงผู้ใหญ่ร้อยละ 50 และหากไม่ได้รับการดูแลมาตั้งแต่ต้น เด็กสมาธิสั้นมีโอกาสกลายเป็นเด็กเกเรและต่อต้านสังคมหลังอายุ 16 ปีได้มากกว่าเด็กปกติ 3 – 4 เท่าตัว
ซึ่งปัญหาของประเทศไทยขณะนี้พบว่าเด็กที่ป่วยทางด้านจิตเวชและมีปัญหาด้านพฤติกรรมยังเข้าถึงบริการน้อยมาก เช่น โรคสมาธิสั้นและโรคออทิสติก มีอัตราการเข้าถึงบริการในปีที่ผ่านมาต่ำกว่าร้อยละ 10 จึงต้องเร่งขยายบริการศูนย์เชี่ยวชาญให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยเฉพาะการกระจายให้ครอบคลุมระดับเขตสุขภาพ 12 เขตและกทม. ที่ดูแลประชากรเขตละประมาณ 5 ล้านคน
จะเพิ่มโอกาสให้เด็กเข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียมยิ่งขึ้น สำหรับที่โรงพยาบาลจิตเวชนครพนมฯ แนวโน้มการมารับบริการที่คลินิกพิเศษของผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่น มีเพิ่มขึ้นจาก 2,136 คน ในปีงบประมาณ 2557 เพิ่มเป็น 6,515 คนในปีงบประมาณ 2559 ส่วนใหญ่ร้อยละ 68 เป็นโรคสมาธิสั้น สติปัญญาบกพร่องร้อยละ 14 และบกพร่องด้านการเรียนรู้ร้อยละ 8
ทางด้านเจ้าบ้าน นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ กล่าวว่า การจัดบริการบำบัดและฟื้นฟูในอาคารเด็กดีนั้น ให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยจิตเวชเด็กและวัยรุ่น อายุ 1 – 18 ปี ที่อยู่ในจังหวัดนครพนมและพื้นที่ใกล้เคียงเช่นสกลนคร บึงกาฬ มุกดาหาร รวมทั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เน้นการจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับวัยและมีความปลอดภัย สามารถรองรับได้วันละ 50 – 70 ครอบครัว
โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เรียกว่าห้องซนูซีเลน ( Sanoezelen) มาให้บริการบำบัดฟื้นฟูเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการล่าช้า บกพร่องทางการเรียนรู้ สมาธิสั้น รวมทั้งเด็กที่บกพร่องทางสติปัญญา โดยมีอุปกรณ์กระตุ้นการทำงานระบบประสาทสัมผัสที่หลากหลายที่เรียกว่าระบบมัลติเซ็นซอรี่ (Multi – sensory)
ทั้งด้านการมองเห็น การได้ยิน การสัมผัส การได้กลิ่น และการเคลื่อนไหว คล้ายๆกับห้องสปา นับเป็นบริการแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ในการบริการจะมีทีมสหวิชาชีพที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะได้แก่ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น พยาบาลเฉพาะทาง นักกิจกรรมบำบัด นักจิตวิทยาและนักวิชาการการศึกษาพิเศษ เป็นผู้ประเมินปัญหาเด็กและจัดกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการ
อาทิ กล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่ การวางแผนการเคลื่อนไหวข้อต่อ การทรงท่า ส่งเสริมทักษะทางสังคมของเด็กผ่านการเล่น ช่วยให้เด็กผ่อนคลาย สมาธิดีขึ้น ใช้เวลาคนละ 1 ชั่วโมง นัดกระตุ้นอีกประมาณ 10 ครั้ง หรือ 2-3 เดือน และประเมินพฤติกรรมและประมวลความรู้สึกเป็นระยะๆ โดยใช้งบพัฒนา 2 ล้านกว่าบาท
ส่วนภายนอกอาคารเด็กดี ใช้เป็นพื้นที่กระตุ้นและบำบัดเด็กที่มีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวล่าช้าและเด็กที่อาการซน อยู่ไม่นิ่ง มีเครื่องเล่นต่างๆที่มีความปลอดภัย ใช้งบดำเนินการ 1. 2 ล้านบาท
นอกจากนี้ มีการบำบัดที่นอกเหนือจากบริการตรวจรักษา ได้แก่ การทดสอบทางจิตวิทยาสำหรับเด็กที่มีปัญหาการเรียนและพฤติกรรม การกระตุ้นพัฒนาการเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็ก การฝึกทักษะการดำรงชีวิตประจำวัน การฝึกพูดเบื้องต้น การฟื้นฟูทางการศึกษาพิเศษ การฝึกทักษะทางสังคม การดูแลสุขภาพจิตผู้ปกครองที่ดูแลผู้ป่วยจิตเวชเด็กและวัยรุ่นในรูปแบบการทำกลุ่มประคับประคอง