รพ.พระมงกุฎฯ ผนึกพลังวิศวฯ จุฬาฯ สร้างชื่อก้องโลกอีกครั้งหลังผ่าตัดใส่กระดูกเทียมโลหะไทเทเนียมทดแทนกระดูกนิ้วหัวแม่มือได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก
ทีมแพทย์กองออร์โธปิดิกส์ รพ. พระมงกุฎเกล้า ร่วมกับ ทีมวิจัยจากภาควิชาวิศวกรรมโลหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ประสบความสำเร็จในการสร้างและผ่าตัดใส่กระดูกเทียมผลิตจากโลหะไทเทเนียมที่ผลิตขึ้นเองในประเทศไทย เพื่อใส่ทดแทนกระดูกนิ้วหัวแม่มือที่ถูกทำลายจนหมดจากเนื้องอกกระดูกเป็นรายแรกของโลก
นับเป็นอีกก้าวแห่งพัฒนาการด้านวิศวกรรมทางการแพทย์ ของไทยที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่ด้อยโอกาสในเมืองไทยให้ได้เข้าถึงการรักษาไปอย่างทั่วถึง และเพื่อเป็นการขยายความร่วมมือด้านวิศวกรรมการแพทย์ วิศวฯ จุฬาฯ ยินดีที่จะร่วมมือกับโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อวิจัยและคิดค้นในด้านดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
โดยเบื้องหลังความสำเร็จในครั้งนี้ ทางทีมวิจัยจาก วิศวฯ จุฬาฯ ได้เปิดเผยเกี่ยวกับการวางแผนเตรียมสร้างกระดูกเทียมไทเทเนียมสั่งตัดให้ตรงตามสรีระเดิมของคนไข้ โดยใช้ความรู้ทางด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์สร้างภาพสามมิติต้นแบบของกระดูกมือขวาจากมือซ้ายของคนไข้ที่เป็นปกติ และใช้เทคโนโลยีทางโลหะวิทยาด้านงานหล่อร่วมกับการพิมพ์สามมิติในการสร้างกระดูกเทียมโลหะไทเทเนียม โดยร่วมมือกับคณะอาจารย์แพทย์ จากกองออร์โธปิดิกส์ รพ.พระมงกุฎเกล้า ในการวางแผนผ่าตัดและเจาะรูในต้นแบบคอมพิวเตอร์ก่อนการผลิตจริง เพื่อปรับให้เหมาะสมกับการร้อยเอ็นให้คนไข้ หลังจากนั้นจึงสร้างกระดูกเทียมไทเทเนียม
ทั้งนี้ คณะแพทย์จากกองออร์โธปิดิกส์ รพ.พระมงกุฎเกล้า ได้วางแผนการผ่าตัดเอากระดูกที่เป็นเนื้องอกออกไปทั้งชิ้น และนำกระดูกเทียมไทเทเนียมที่เตรียมไว้มาใส่ทดแทน เย็บเส้นเอ็นของผู้ป่วยยึดตรึงกับกระดูกเทียมให้แข็งแรง ป้องกันการเคลื่อนหลุดจากตำแหน่งที่ต้องการ พร้อมทั้งใส่เฝือกช่วยพยุงชั่วคราวในช่วงแรก โดยปัจจุบัน ผลการผ่าตัดเป็นที่น่าพอใจ ไม่มีการติดเชื้อ หลังจากผ่าตัดไปแล้ว 2 เดือน คนไข้สามารถขยับมือและกลับมาใช้งานได้ดังเดิม
การค้นพบและพัฒนากระดูกเทียมโลหะไทเทเนียมทดแทนกระดูกนิ้วหัวแม่มือในครั้งนี้ ถือเป็นอีกขั้นของความร่วมมือเพื่อให้เกิดคุณประโยชน์ทางการแพทย์ และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายของประเทศในการนำเข้าวัสดุทางการแพทย์จากต่างประเทศอีกด้วย