กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ย้ำเตือนสถานพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ ให้ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ( ฉบับที่ 6 ) พ.ศ. 2545 ว่าด้วย หลักเกณฑ์การจัดการศพในสถานพยาบาล อย่างเคร่งครัด ห้ามกักศพเป็นประกันค่ารักษาที่ยังติดค้างอย่างเด็ดขาด หากฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำทั้งปรับ
จากกรณี ที่มีข่าวในสื่อโซเชียลว่ามีผู้ป่วยเสียชีวิตหลังเข้ารับการรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง และมีการติดค้างค่ารักษานับแสนบาท โดยผู้ป่วยรายดังกล่าวไม่มีสิทธิประกันสุขภาพ หรือ ประกันสังคม เมื่อญาติขอรับศพไปประกอบพิธีทางศาสนาแต่โรงพยาบาลดังกล่าวไม่ยินยอมให้นำศพออกจากโรงพยาบาลจนกว่าญาติจะนำเงินมาจ่ายค่ารักษา นั้น
ความคืบหน้า กรณีดังกล่าว ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่า บ่ายวันนี้ (31 มีนาคม 2560) นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) ให้สัมภาษณ์ว่า การที่โรงพยาบาลเอกชนกักศพ ไม่ให้ญาติรับศพผู้เสียชีวิตไปประกอบพิธีทางศาสนา ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย คือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2545 ที่ออกตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดการศพในสถานพยาบาล ในข้อที่ 6 ที่ระบุไว้ว่า
เมื่อมีบุคคล คือ สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือญาติของผู้ตายอย่างน้อยหนึ่งคน แสดงความจำนงขอรับศพผู้ตาย โดยแสดงเอกสารและลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน ให้สามารถรับศพของผู้ตายไปจากสถานพยาบาลได้ทันที
และข้อที่ 8 กำหนดให้ผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการสถานพยาบาลจะต้องไม่กำหนดเงื่อนไขอื่นๆในการกักเก็บศพ หากผู้รับอนุญาตหรือ ผู้ดำเนินการโรงพยาบาลฝ่าฝืน ถือว่าไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานการบริการของสถานพยาบาล ตามมาตรา 15
ซึ่งผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการมีหน้าที่ควบคุมและดูแลการประกอบกิจการสถาน พยาบาลให้เป็นไปตามมาตรฐานการบริการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด (มาตรา 35 ( 4 ) ) มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ ขอเน้นย้ำให้โรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และขอให้ยึดหลักคุณธรรม มนุษยธรรม และความรู้สึกของญาติที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก สำหรับค่ารักษาที่ผู้เสียชีวิตติดค้างสามารถใช้วิธีการอื่นในการเรียกเก็บได้ในภายหลัง โดยห้ามมีเงื่อนไขเรื่องศพเข้ามาเกี่ยวข้อง