ลูกหนี้เฮ! พ.ร.บ.ทวงถามหนี้ผ่านสนช.แล้ว เตรียมบังคับใช้ต้นปีนี้ คุมเข้มเจ้าหนี้นอกระบบต้องขึ้นทะเบียนกับมหาดไทย ห้ามข่มขู่ ประจาน ดูหมิ่น เสียดสี ทวงไม่เป็นเวลา ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐรับทวงหนี้ ป้องกันตำรวจ-ทหารมีเอี่ยว ฝ่าฝืนเจอโทษหนัก เพิกถอนการจดทะเบียน จำคุก 5 ปี ปรับ 5 แสน หรือทั้งจำทั้งปรับ

Depositphotos_18442353_m

 

เมื่อวันที่ 2 ม.ค.นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผอ.สํานักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 3 วาระ เรียบร้อย คาดว่าจะมีผลบังคับต้นปี 2558 นี้ ส่งผลให้ลูกหนี้ได้รับการคุ้มครองจากการทวงหนี้จากเจ้าหนี้ หรือผู้ทำหน้าที่แทนในการทวงหนี้มากขึ้น

ผอ.สศค. กล่าวอีกว่า นอกจากนี้สนช.ได้แก้ไขเพิ่มเติมจากเดิมที่ให้ผู้ทวงหนี้ในระบบต้องมาขึ้นทะเบียนกับกระทรวงการคลังเท่านั้น โดยเพิ่มให้ผู้ทวงหนี้นอกระบบทั้งบุคคลและนิติบุคคลที่ไม่มาขึ้นทะเบียนกับกระทรวงการคลัง ต้องไปขึ้นทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย (มท.) ด้วย เพื่อให้การกำกับดูแลการทวงถามหนี้ได้ทั้งระบบ สำหรับการทวงถามหนี้ต้องทำอย่างเป็นธรรม ห้ามมีการข่มขู่ ห้ามประจานลูกหนี้ และห้ามทวงไม่เป็นเวลา เป็นต้น

นายกฤษฎา กล่าวว่า สนช.ยังเพิ่มเติมโดยห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐมาทำหน้าที่ทวงถามหนี้ เพราะไม่เหมาะสม และป้องกันเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารมาทวงถามหนี้ หากผู้ที่ทวงถามหนี้กระทำการไม่ถูกต้องจะมีโทษทั้งอาญาและแพ่ง ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีกฎหมายทวงถามหนี้ ทำให้ลูกหนี้ไม่ได้รับการคุ้มครองจากเจ้าหน้าที่เท่าที่ควร

รายงานข่าวเปิดเผยว่า ที่ผ่านมาหลายรัฐบาลพยายามผลักดันการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างเป็นรูปธรรมมาตลอด แต่เป็นการแก้แบบชั่วครั้งชั่วคราว เมื่อมาถึงรัฐบาลนี้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้นำข้อสั่งการของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เคยออกมาปรามบรรดาเจ้าหนี้นอกระบบทั้งหลายอย่าได้ข่มขู่ หรือกระทำการใดๆ ที่รุนแรงกับบรรดาลูกหนี้ พร้อมกับยกร่างพ.ร.บ.การทวงถามหนี้ ออกเป็นมาตรการล้อมกรอบเจ้าหนี้นอกระบบ เนื่องจากห่วงใยปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นเรื่องเร่งด่วน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับข้อห้ามที่ระบุไว้ในร่างกฎหมาย พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ มี 5 ข้อ ได้แก่

1.ห้ามมิให้ผู้ติดตามหนี้ติดต่อบุคคลอื่น ที่ไม่ใช่ลูกหนี้ เว้นแต่เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลสถานที่ติดต่อลูกหนี้

2.ห้ามมิให้ผู้ติดตามหนี้ กระทำการในลักษณะที่เป็นการละเมิด และคุกคาม ในการติดตามทวงถามหนี้ อาทิ ใช้ความรุนแรง ใช้วาจา หรือภาษาดูหมิ่น ถากถาง เสียดสี การเปิดเผยความเป็นหนี้ของผู้บริโภคแก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง

3.ห้ามติดตามทวงหนี้เกินสมควรแก่เหตุ รวมถึงการติดต่อทางโทรศัพท์วันละหลายครั้ง และก่อให้เกิดความเดือดร้อน รำคาญ

4.ห้ามมิให้ผู้ติดตามหนี้กระทำการในลักษณะที่เป็นเท็จ หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิด ในการติดตามทวงหนี้ เช่น ทำให้เข้าใจว่าเป็นการกระทำของศาล เจ้าพนักงานบังคับคดี รัฐ หน่วยงานของรัฐ ทนายความ หรือสำนักงานกฎหมาย ทำให้เชื่อว่าหากไม่ชำระหนี้จะถูกดำเนินคดี ถูกยึดหรืออายัดทรัพย์หรือเงินเดือน ข่มขู่ว่าจะดำเนินการใด ทั้งที่ไม่มีอำนาจจะกระทำได้ตามกฎหมาย

5.ห้ามไม่ให้ผู้ติดตามหนี้ ติดตามทวงถามหนี้ในลักษณะที่ไม่เป็นธรรม อาทิ เรียกเก็บค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายใดๆ เว้นแต่ได้มีการตกลงไว้ล่วงหน้า ติดต่อลูกหนี้เกี่ยวกับหนี้โดยทางไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก หรือโทรสาร ใช้ภาษา สัญลักษณ์ ชื่อทางธุรกิจ บนซองจดหมายในการติดต่อลูกหนี้ ที่แสดงให้เห็นว่าเป็นการติดตามทวงถามหนี้ ส่วนการติดต่อกับลูกหนี้นั้น ให้ติดต่อตามสถานที่ที่ลูกหนี้แจ้งไว้ ในกรณีที่ไม่สามารถติดต่อได้ โดยได้พยายามตามสมควรแล้ว ให้ถือเอาสถานที่ติดต่ออื่น เป็นสถานที่ที่เหมาะสมในการติดต่อได้ สำหรับการติดต่อลูกหนี้ทางโทรศัพท์ โทรสาร หรือติดต่อบุคคล สำหรับวันทำการให้ติดต่อได้ในเวลา 08.00-20.00 น. ส่วนวันหยุดราชการติดต่อได้ในเวลา 08.00-18.00 น. เว้นแต่ได้ตกลงกันเป็นลายลักษณ์อักษร

สำหรับบทกำหนดโทษแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ โทษทางปกครองจะถูกปรับไม่เกิน 1 แสนบาท ตามมาตรา 24 และทางอาญาจะถูกเพิกถอนการจดทะเบียน และจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งถือว่าเป็นการลงโทษขั้นสูงสุด รวมทั้งให้มีการตั้งคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ ขึ้นมาดูแลรับผิดชอบการดำเนินงานด้วย

ขอขอบคุณ Khaosod

 

เรื่องน่าสนใจ