ปัจจุบันนี้เรามักจะได้ยิน เรื่องภาวะการติดเชื้อในกระแสเลือด หลายคนสงสัยว่า การติดเชื้อในกระแสเลือดคืออะไร มีวิธีป้องกันและแก้ไขอย่างไร มาฟังคำตอบกันครับ
การติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นภาวะที่มีอัตราการตายสูงมาก และตายอย่างรวดเร็ว ถ้าหากได้รับ การรักษาไม่ทันท่วงที เพราะเลือดคือองค์ประกอบหลักของร่างกาย ที่ปราศจากเชื้อและไหลไปอวัยวะทุกส่วน หากเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดได้ ร่างกายจะมีปฏิกิริยาต่อสู้ และทำให้เกิดการอักเสบทั่วร่างกาย
การติดเชื้อจากอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นปอด ทางเดินปัสสาวะ ทางเดินอาหาร หรือผิวหนัง ซึ่งภาวะนี้ต้องให้การรักษาอย่างรวดเร็วและทันกาล เพราะความรุนแรงจะทวีคูณตามเวลาที่ติดเชื้อจนทำให้เสียชีวิตได้
ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยเด็ก เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ผู้ป่วยสูงอายุ เพราะการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันเริ่มเสื่อม และผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำ หรือผู้ป่วยที่มีโรคร่วมหลายอย่าง เช่น เบาหวาน ไตวายเรื้อรัง ได้รับยาเคมีบำบัด เป็นต้น
นอกจากปัจจัยของผู้ป่วยแล้ว เชื้อก่อโรคก็เป็นปัจจัยที่สำคัญ เช่น ถ้าเป็นเชื้อที่มีความรุนแรง จะทำให้โรคดำเนินไปอย่างรวดเร็ว หรือเป็นเชื้อดื้อยาหลายขนานก็จะทำให้การรักษายุ่งยากขึ้นหรือได้ผลไม่ดี
อาการนำของผู้ป่วย จะมาโรงพยาบาลด้วยอาการของการติดเชื้อของอวัยวะที่เป็นสาเหตุ ร่วมกับมีอาการทั่วไป เช่น มีไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย อุจจาระร่วง อาจซึมหรือหมดสติ ในรายที่มีอาการรุนแรงจะมีความดันโลหิตต่ำหรือมีภาวะช็อก การทำงานของอวัยวะต่างๆ เช่น ไต ปอด หัวใจล้มเหลวได้ ซึ่งเป็นสาเหตุที่สำคัญของการเสียชีวิต
การรักษา แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะที่ครอบคลุมเชื้อก่อโรคที่สงสัย และให้การรักษาแบบประคับประคอง เช่น ให้ออกซิเจน ให้สารน้ำเข้าหลอดเลือดให้เพียงพอ ถ้ามีอาการหอบเหนื่อยมากอาจจำเป็นต้องใส่ท่อหลอดลมเพื่อช่วยการหายใจ และติดตามอาการอย่างใกล้ชิด
โดยทั่วไปแล้ว แพทย์จะให้ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาล เพื่อติดตามอาการ ผู้ป่วยที่มีความดันเลือดต่ำ เนื่องจากการติดเชื้อ หรือมีไข้สูงอาจต้องนอนโรงพยาบาลนานครับ
บทความโดย : ศ.นพ.อมร ลีลารัศมี อายุรแพทย์
ที่มา www.manager.co.th