อาการบาดเจ็บของเส้นประสาทใบหน้า ส่งผลให้เกิดผลเสียหายอย่างมากในชีวิตประจำวันของผู้ป่วย ทั้งในเรื่องของการสื่อสาร รวมไปถึงการแสดงสีหน้าและอารมณ์ ทำให้ยากในการเข้าสังคม เพราะจะขาดความมั่นใจ ส่งผลกระทบถึงชีวิตความเป็นอยู่ รวมทั้งขาดโอกาสทางสังคมอีกด้วย
การบาดเจ็บของเส้นประสาทใบหน้านั้น นอกจากความมีความไม่สวยงามเกิดขึ้นกับใบหน้าแล้ว ยังมีผลต่อการทำงานของการกล้ามเนื้อที่ใช้ปิดตา ทำให้ไม่สามารถกระพริบตา มีการสร้างน้ำตาน้อยลง ส่วนผลกระทบกับการทำงานของกล้ามเนื้อปากนั้น จะทำให้เกิดความยากลำบากเกี่ยวข้องกับการกิน การดื่มน้ำ และการออกเสียงพูด เพราะกล้ามเนื้อหลายมัดบนในหน้าที่ใช้พูดให้ชัดนั้น ถูกเลี้ยงโดยเส้นประสาทใบหน้านั่นเอง
เส้นประสาทคู่ที่ 7 (Facial nerve) เป็นเส้นประสาทที่ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใบหน้า เส้นประสาทคู่นี้ จะเชื่อมต่อจากศูนย์ควบคุมที่อยู่ในแกนสมอง และรอดผ่านกระโหลกบริเวณหน้าใบหู ก่อนจะแตกแขนงเป็น 5 แขนง เพื่อไปควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อใบหน้า ซึ่งแบ่งออกเป็น
ภาพจาก : darts-store.com
Frontal branch
ทำหน้าที่ไปควบคุมกล้ามเนื้อบริเวณหน้าผาก ซึ่งทำหน้าที่ขยับ หรือ ยักคิ้ว
Zygomatic branch
ทำหน้าที่ไปควบคุมกล้ามเนื้อรอบดวงตา ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการหลับตา
Buccal branch
ทำหน้าที่ไปควบคุมกล้ามเนื้อด้านบนของปาก ซึ่งทำหน้าที่ในการควบคุมมุมปากด้านบนหรือการจู๋ปาก
Marginal branch
ทำหน้าที่ไปควบคุมกล้ามเนื้อด้านล่างของปาก ซึ่งทำหน้าที่ในการยิ้มมุมปากหรือการฉีกยิ้ม
Cervical branch
ทำหน้าที่ไปควบคุมกล้ามเนื้อบริเวณใต้คางและคอช่วงบน ซึ่งทำหน้าที่ในการควบคุมการขยับกล้ามเนื้อใต้คาง
การบาดเจ็บของเส้นประสาทคู่ที่ 7 นี้ จะส่งผลให้เสียการทำงานของกล้ามเนื้อมัดที่แขนงของเส้นประสาทนั้นๆ ไปเลี้ยง เช่น ทำให้ยักคิ้วไม่ได้ หลับตาไม่ได้ หรือยิ้มไม่ได้ ซึ่งระดับความรุนแรงของการบาดเจ็บของเส้นประสาทจะแบ่งง่ายๆ เป็น 3 ระดับ ตาม Seddon classification ก็คือ
รุนแรงน้อย (neurapraxia)
ระดับนี้จะเป็นการกระทบกระเทือนชั่วคราว ซึ่งเส้นใยประสาทและปลอกเส้นประสาทไม่มีการขาดออกจากกัน ส่งผลให้เส้นประสาทสามารถฟื้นตัวกลับมาทำงานได้เอง และใช้เวลาฟื้นตัวประมาณ 3 สัปดาห์ ถึง 3 เดือน คนไข้ในกลุ่มนี้ก็จะมีการเสียการทำงานของกล้ามเนื้อแค่ชั่วคราวเท่านั้น
รุนแรงปานกลาง (axonotmesis)
ระดับนี้จะมีการฉีดขาดของใยประสาท (nerve fiber) แต่ปลอกเส้นประสาท (nerve sheath) ไม่ได้ขาดออกจากกัน การบาดเจ็บระดับนี้จะทำให้ส่วนของประสาทที่เรียกว่า axon ส่วนปลายนั้นเสียไป ซึ่งในระยะ 2-3 วันแรกนั้น ยังไม่แสดงอาการหน้าเบี้ยวให้เห็นเพราะ axon อาจยังมีชีวิตอยู่ได้ ประมาณ 3-4 วัน หลังเกิดเหตุ จะมีการเสื่อมของเส้นประสาทที่เรียกว่า Wallerian degeneration โดยจะเสื่อมและสลายตัวไปตลอดทาง ตั้งแต่จุดที่เกิดการบาดเจ็บ ไปจนถึงอวัยวะที่เส้นประสาทนั้นกำกับดูแล การบาดเจ็บประเภทนี้ แนวของเส้นประสาทยังคงอยู่จากเยื่อหุ้มของเส้นประสาทใยประสาท จึงสามารถเจริญเชื่อมต่อกันเองได้ แต่จะเชื่อมต่อกันได้มากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการบาดเจ็บด้วย
รุนแรงมาก (neurotmesis)
ระดับนี้ เส้นประสาทจะขาดออกจากกันทั้งเส้น และไม่สามารถเจริญเชื่อมต่อและฟื้นตัวได้เอง กล้ามเนื้อมัดนั้นก็จะเสียการทำงานโดยถาวร จำเป็นต้องมีการผ่าตัดรักษา ตัดต่อเส้นประสาทให้กลับมาเชื่อมต่อ และสามารถฟื้นตัวเพื่อส่งกระแสประสาทกลับไปเลี้ยงกล้ามเนื้อได้ ซึ่งระยะการฟื้นตัวอาจใช้เวลานานขึ้นอยู่กับเทคนิคการผ่าตัดด้วย
Reinnervation
(การผ่าตัดซ่อมแซม หรือตัดต่อเส้นประสาท)
การผ่าตัดนี้ มักจะทำในกรณีที่มีการบาดเจ็บทันที เช่น อุบัติเหตุที่เกิดบาดแผล และทำให้มีการขาดของเส้นประสาท ในกรณีที่การบาดเจ็บนั้นนานเกิน 6 เดือน และไม่เกิน 1 ปี ก็สามารถใช้เส้นประสาทจากตำแหน่งอื่น เช่น เส้นประสาทรับความรู้สึกขาและเท้าด้านนอก มาทำการเชื่อมเส้นประสาทระหว่างใบหน้าข้างปกติ ไปเชื่อมกับเส้นประสาทข้างที่เสียหาย เพื่อช่วยเลี้ยงข้างที่เสียหาย ซึ่งจะใช้เวลาของการเชื่อมต่อระหว่างกันประมาณ 9-12 เดือน
static reconstruction
(การผ่าตัดเพื่อให้ใบหน้าขณะพักใกล้เคียงปกติ)
มักทำในผู้ป่วยที่มีอายุมาก และมีความเสี่ยงในการผ่าตัดที่ใช้เวลานาน เช่น การผ่าตัดยกคิ้วในกรณีที่คิ้วตก การผ่าตัดใส่ทองถ่วงหนังตาในกรณีที่ตาปิดไม่สนิท การฉีด Botox ด้านปกติ เพื่อให้มีการทำงานของกล้ามเนื้อลดลง ส่งผลให้ใบหน้าข้างปกติดูเบี้ยวลดลง และดูเหมือนปกติในขณะพัก
Dynamic reconstruction
(การผ่าตัดเพื่อส่งเสริมให้ใบหน้ามีการเคลื่อนไหวที่ดี ในขณะแสดงสีหน้า)
การผ่าตัด มีตั้งแต่การเอากล้ามเนื้อที่ใช้ในการช่วยบดเคี้ยวอาหารมาช่วยในการขยับปากหรือหลับตา โดยการโยกกล้ามเนื้อ temporalis หรือ masseter มาเย็บบริเวณมุมปากหรือปีกจมูก หรือรอบๆ ดวงตา เพื่อช่วยในการขยับ แต่การผ่าตัดวิธีนี้ จำเป็นต้องได้รับการฝึกฝน เนื่องจากจำเป็นต้องกัดฟันเมื่อต้องการยิ้มหรือกระพริบตา
การผ่าตัดโดยย้ายกล้ามเนื้อจากบริเวณขาทดแทนกล้ามเนื้อใบหน้า
โดยส่วนใหญ่ มักเป็นการทดแทนกล้ามเนื้อที่ใช้ในการยิ้มวิธีการนี้ จะต้องใช้กล้องจุลทรรศน์เพื่อตัดต่อเส้นเลือดและเส้นประสาท โดยนำกล้ามเนื้อจากที่ขา (Gracilis muscle) รวมไปถึงเส้นเลือดและเส้นประสาทที่เลี้ยงกล้ามเนื้อ ยกขึ้นมาต่อกับเส้นประสาทของกล้ามเนื้อขากรรไกร (nerve of Masseter muscle) และเส้นเลือดบริเวณใบหน้า ใช้ระยะเวลาในการผ่าตัดนานประมาณ 4-8 ชั่วโมง และมีโอกาสเสียเลือด รวมทั้งมีบาดแผลที่ขาอีกด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม หากเส้นประสาทมีการบาดเจ็บรุนแรง โดยไม่สามารถฟื้นตัวเองได้ จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดตามวิธีที่เหมาะสมกับการบาดเจ็บของเส้นประสาท และระยะเวลาหลังการบาดเจ็บของเส้นประสาทเป็นสำคัญ
เรียบเรียงเนื้อหาโดย Dodeden.com